สำหรับจำนวนของประชากรของประเทศไทยที่ขาดสารอาหารในประเทศ จากการสำรวจของเอฟ เอ โอ ล่าสุด พบว่า จากจำนวนผู้ขาดสารอาหารจำนวน 19.8 ล้านคนในปี 2553 ประเทศไทยสามารถลดได้เหลือ 5 ล้านคน ในปี 2558 และสามารถลดสัดส่วนของประชากรที่ขาดสารอาหารจากร้อยละ 34.6 เป็นร้อยละ 7.4 ภายในปี 2558 เช่นกัน จึงถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศที่ส่งผลให้ดัชนีชี้วัดความขาดสารอาหารลดลงเร็วกว่าเป้าหมายเวลาที่เอฟเอโอกำหนด ซึ่งเป็นผลจากที่ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาในด้านการเกษตรและอาหาร ด้านการสาธารณสุข ด้านอาหารศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับรางวัล" Recognizing achievements in the fight against hunger” จากเอฟเอโอในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองที่ประเทศไทยได้รับรางวัลดังกล่าว โดยครั้งแรกเมื่อปี 2556
"ข้อมูลการขาดสารอาหารของประชากรนั้น สำรวจจากตัวแปรชี้วัดที่ประกอบไปด้วย ข้อมูลปริมาณพลังงานจากอาหารขั้นต่ำที่ร่างกายมนุษย์ต้องการในแต่ละช่วงอายุ เพศ วัย ในระดับที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตและมีสุขภาพดี และข้อมูลความไม่เสมอภาคของการบริโภคในประชากรแต่ละกลุ่ม นำมาประมวลสัดส่วนของผู้อดอยากหิวโหย และขาดสารอาหาร ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในรายงาน The State of Food Insecurity in the World” อันเป็นข้อมูลพื้นฐานของการพิจารณาเชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ เอฟเอโอ เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ประชากรของประเทศจะต้องมีสุขภาพดีจากการได้รับสารอาหารหรือโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งการมีสุขภาพที่ดีนั้นจะส่งผลให้ผลิตภาพของทรัพยากรมนุษย์สูงอันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” นายปีติพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเอฟ เอ โอ จะมีการพิจารณามาตรการ เป้าหมายการลดจำนวนผู้อดอยากหิวโหย และขาดสารอาหาร ในสหัสวรรษใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2016 ซึ่งประเทศไทยพร้อมจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อการพัฒนาการเกษตรและอาหาร ด้านสาธารณสุข อันจะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงอาหาร รวมถึงได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้นในอนาคตด้วย