สำหรับท่าทีของประเทศไทยที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาเอฟ เอ โอ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายการดำเนินงานในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของแต่ละประเทศ ในเรื่องการป้องกันทางสังคมและการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนนั้น ไทยได้เสนอแนวคิดการพัฒนาการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ดังนี้ 1. ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตที่มีผลตอบแทนที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยเน้นให้การศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ต้นทุนการผลิตลดลง ปัญหาความมั่นคงทางอาหารก็จะสามารถแก้ไขได้ 2. การสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรกับการผลิต ซึ่งประเทศไทยพยายามแก้ไขเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด แม้ว่าจะไม่ง่ายนักก็ตาม โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำและดิน 3. การลดการสูญเสียอาหารในช่วงขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การสูญเสียอาหารในขั้นตอนการผลิตในฟาร์ม การขนส่ง การผลิตอาหาร จนถึงผู้บริโภคที่รับประทานไม่หมดแล้วเหลือทิ้ง เมื่อรวมสัดส่วนทั้งหมดแล้วถ้าหาทางช่วยกันลดการสูญเสียอาหารในขั้นตอนต่างๆ แล้วเอาไปช่วยคนที่มีปัญหาความมั่นคงทางอาหารได้ ฝ่ายไทยคิดว่าเป็นเรื่องที่ประเทศสมาชิกควรจะร่วมกันดำเนินการ
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังได้หารือระดับทวิภาคีและแสดงความยินดีกับนายโฮเซ่ กราเซียโน ดา ซิลงา ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คนปัจจุบัน ที่ได้รับเลือกตั้งจากชาติสมาชิกขององค์กร ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปอีกเป็นสมัยที่ 2 วาระ 4 ปี ซึ่งการหารือระหว่างกันในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อกล่าวขอบคุณผู้อำนวยการใหญ่เอฟ เอ โอ ที่พิจารณาจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายไปช่วยเหลือในเรื่องการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชสำหรับอาหารและการเกษตร ซึ่งเป็นกฎระเบียบระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าถึง การใช้ และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ที่จัดขึ้นโดยเอฟ เอ โอและมีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีกลไกการดำเนินงานผ่านระบบพหุพาคี และรัฐมีสิทธิอธิปไตยเหนือพันธุกรรมของตน ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และป่าไม้ เช่น สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (อิรี่) ที่เข้าร่วมในสนธิสัญญานี้แล้ว และยินดีที่จะแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพันธุ์ข้าวที่อิรี่มีแลกเปลี่ยนแก่ประเทศภาคี
สำหรับสถานะล่าสุดของไทยขณะนี้ได้ลงนามรับรองสนธิสัญญาฯ แล้ว แต่ยังไม่เข้าเป็นภาคีสมาชิกที่ขณะมีภาคีสมาชิกจำนวน 134 ประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่าทีของไทยขณะนี้จะยังคงชะลอการเข้าเป็นภาคี เนื่องจากยังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น เทคโนโลยี กฎหมาย และบุคลากรที่จะมากำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรม แต่จะมีการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้อง เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาข้อจำกัดของกฎหมายภายในประเทศร่วมด้วย