ประเมินสถานการณ์โรคเมอร์ส และผลทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย

24 Jun 2015
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคเมอร์สจะไม่รุนแรง เป็นผลมาจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ควบคุมการติดต่อของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ”

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 กรณีพบผู้ป่วยชาวตะวันออกกลาง ที่เป็นโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) จำนวน 1 ราย ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และอยู่ระหว่างการรักษาตัว ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลต่อสถานการณ์โรคเมอร์ส และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่า สถานการณ์โรคเมอร์สยังสามารถอยู่ในความควบคุมได้ และจะไม่รุนแรงเท่ากับสถานการณ์โรคทางเดินทางหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2546 โดยมีเหตุผลดังนี้ (1) มีการเปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อโรคเมอร์สอย่างรวดเร็ว และชัดเจนกว่าในสมัยโรค SARS ส่งผลให้มีการควบคุมได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศต่างๆ (2) ท่าอากาศยานนานาชาติของไทยได้มีการจัดตั้งจุดคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าจากสายการบินที่มาจากประเทศตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ และ (3) กระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามผู้ที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย และสร้างระบบคัดกรองผู้ป่วย ตลอดจนปรับระบบการดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล ให้มีการป้องกันควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้ชื่นชมว่าประเทศไทยสามารถมีระบบการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จนสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำเข้าสู่ระบบคัดแยกตั้งแต่ก่อนโรคจะแสดงอาการและแพร่เชื้อ อีกทั้งประเทศต่างๆ ยังไม่ได้ประกาศการยกระดับการเตือนการเดินทาง (Travel Alert) มายังประเทศไทย เหมือนกับกรณีที่ฮ่องกงประกาศเตือนการเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม จากกรณีศึกษาเหตุการณ์โรคติดต่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ธุรกิจการขนส่ง และธุรกิจการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ซึ่งจากประสบการณ์ของไทยในอดีต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสามารถเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงระยะเวลาภายใน 2 – 5 เดือนหลังเหตุการณ์

จากข้อมูลการเดินทางล่าสุดยังพบว่า สถานการณ์โรคเมอร์สยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิในวันที่ 18 – 21 มิถุนายน 2558 ยังคงขยายตัวในระดับ สูงมากที่ร้อยละ 57.8 ต่อปี นอกจากนี้ อัตราการจองผ่านบริษัทนำเที่ยว และห้องพักต่างๆ ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด ดังนั้น สศค. จึงเชื่อมั่นว่าสถานการณ์โรคเมอร์สจะสามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจะได้มีการติดตามสถานการณ์โรคเมอร์สและผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป