กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐฯ ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อต่อยอดโครงการฯ สร้างที่ปรึกษาและบุคลากรด้านอุตสาหกรรมหัวใจสิ่งแวดล้อม
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐฯ จัดพิธีลงนามความร่วมมือโครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" ระยะที่ 3 เพื่อผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และองค์กรในภาคธุรกิจและบริการ โดยการให้ความรู้และให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการแบบลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Lean Management for Environment) เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและกำไร ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของโรงงานและองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้
ในการนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศแต่งตั้ง "คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อกำกับและดูแลโครงการ ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" ขึ้น โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอาทิตย์ วุฒิคะโร เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเพื่อผสานความร่วมมือได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กองพัฒนาอุตสาหกรรม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ ไทย-สหรัฐ ร่วมเป็นกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ระยะที่สามนี้ด้วย
นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนองค์กรของตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันในระบบการค้าเสรีในระดับภูมิภาคโดยไม่มีการแบ่งเขตแดนประเทศได้
"การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนับเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมไทยที่จะคว้าโอกาสในการขยายตลาดและนำความเจริญมาสู่ประเทศของเรา จึงนับเป็นเรื่องที่ดีที่มีการผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนในโครงการครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศไทย เนื่องจากมีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงมากกว่าร้อยละ 90" นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
"เราเชื่อมั่นว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี จะทำให้มูลค่าโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดอาเซียนมีกำลังซื้อสูง เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน มีสัดส่วนจีดีพี รวมกันสูงถึง 62 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันจีดีพีของประเทศไทย อยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งร้อยละ 60 ของจีดีพี หรือกว่า 7 ล้านล้านบาท มาจากภาคการส่งออก โดยในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน สูงถึงร้อยละ 25 ดังนั้น โอกาสการขยายสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนในอนาคตยังเป็นไปได้มาก ซึ่งในภาพรวมจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคในภูมิภาคนี้มีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย" นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ใน กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนงานพิมพ์เขียว AEC ขณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ก็กำลังดำเนินงานในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเดิม ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน
"เราได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐด้วยกันเองและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยแบบบูรณาการ และในการผสานความร่วมมือโครงการ ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน เราได้แต่งตั้งคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์เพื่อกำกับและดูแลโครงการฯ ขึ้น เพื่อส่งเสริมและขยายองค์ความรู้การบริหารจัดการด้านลีนเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสร้างผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกลุ่มเยาวชน/นักศึกษา ผู้ที่กำลังจะก้าวสู่อาชีพภาคอุตสาหกรรม ให้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในโรงงานและหน่วยงานต่างๆ ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพสูง ลดต้นทุนด้วยการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้ธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการนั้นๆ เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับภูมิภาค" นายอาทิตย์ กล่าว
การดำเนินโครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มีแนวคิดและความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้สามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยอาศัยหลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมหลักในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่จัดทำหลักสูตร คู่มือ ให้การฝึกอบรมหลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเป็นพี่เลี้ยงโดยมีทีมที่ปรึกษาเข้าไปร่วมวางแผนและให้คำปรึกษากับหน่วยงานหรือองค์กรที่เข้าร่วมโครงการในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองด้วยการบริหารสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสียด้วยการทบทวนการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบถึงการส่งสินค้าถึงลูกค้า การลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการเพิ่มความปลอดภัยพนักงานและกระบวนการทำงานต่างๆ หากองค์กรสามารถบริหารจัดการได้อย่างครบวงจร ทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว นอกจากจะช่วยลดความสูญเสียจากกระบวนการผลิต และลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชน ลูกค้า นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งท้ายสุดจะช่วยสนับสนุนให้องค์กรเหล่านั้นสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายด้านผลกำไรขององค์กรได้อย่างยั่งยืน จนถึงปัจจุบัน มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกับโครงการฯ กว่า 3,000 คน จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเกือบ 900 แห่ง
ดร. ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายถึงการใช้ต้นทุนที่สูงต่อหนึ่งหน่วยการเจริญเติบโต ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่ำ หากประเทศไทย มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง มีนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางธุรกิจ โดยเน้นการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างและโดดเด่นในตลาด จะทำให้มีโอกาสเติบโตในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน"
ด้านนายจิรศักดิ์ สิงห์มณีชัย กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า "ดาว เคมิคอล ทั่วโลก ใช้หลักการความยั่งยืนในการทำธุรกิจทั่วโลกด้วยเช่นกัน เราตระหนักถึงความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนั่นคือการดำเนินธุรกิจโดยส่งผลดีต่อทั้งคู่ค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ ดาว เคมิคอล สามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างยาวนานเกือบ 120 ปีตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และสามารถขยายธุรกิจไปทั่วโลก โดยเราดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเกือบ 50 ปีแล้ว ดังนั้น เราจึงต้องการขยายแนวคิดด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไปสู่เพื่อนร่วมอุตสาหกรรมและร่วมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" นี้ ถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนของบริษัทฯ ในฐานะพันธมิตรเพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคม เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยให้มีความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน"
ในโอกาสเดียวกันนี้ โครงการฯ ยังได้จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติและประกาศนียบัตรให้กับหน่วยงานและองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" ทั้ง 20 แห่งด้วย โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดผลการปรับปรุงโรงงานหรือองค์กรด้วยหลักการลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม ประเภทองค์กรขนาดเล็ก ได้แก่ มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้ถึง 30% ในขณะที่มีผลการทำงานด้านความปลอดภัยและการจัดการของเสียดีขึ้นด้วย ส่วนบริษัทที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศประเภทสถานประกอบการ ได้แก่ บริษัท คอทโกเมททอลเวอร์คส จำกัด และบริษัท บางกอกอีเกิลวิง จำกัด ตามลำดับ โดยบริษัท คอทโกเมททอลเวอร์ค ได้ปรับปรุงกระบวนการติดตั้งเครื่องจักร สามารถลดระยะเวลาการปรับตั้งเครื่องจักรได้ถึง 33% และลดต้นทุนด้านพลังงานได้อย่างต่ำปีละ 120,000 บาท ส่วนบริษัท บางกอกอีเกิลวิง ได้ทำการปรับผังการวางเครื่องจักร ส่งผลให้สามารถลดระยะทางการเคลื่อนย้ายชิ้นงานได้ 48% ลดชิ้นงานรอระหว่างกระบวนการได้ 100% และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรโดยรวมได้กว่า 40%
นอกจากนี้ โครงการ "ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน" ระยะที่ 3 ยังได้จัดงานเสวนา ในหัวข้อ "ปรับกระบวนทัศน์อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลใน AEC" เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบตลาดใน AEC และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงภาคธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนให้กับผู้สนใจทั่วไปในวันเดียวกันอีกด้วย