นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ 7 องค์กรภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบาย “รัฐร่วมเอกชน” ของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือกลุ่มวิชา STEM ทั้งในการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา อันจะเป็นพื้นฐานช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
“โครงการ Enjoy Science มุ่งเป้าหมายที่จะจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยโครงการฯ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานพันธมิตรข้างต้นในระดับนโยบาย ตลอดจนสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น ตลอดจนโรงเรียน สถานศึกษา และชุมชน เพื่อยกระดับการเรียนการสอนด้านสะเต็ม โดยจะมีผู้ได้รับประโยชน์ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียนเยาวชน ชุมชน และแรงงานกว่า 500,000 คน ทั่วประเทศ”
“โดยจังหวัดขอนแก่นถือเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดนำร่องของโครงการที่เราจะดำเนินการในปีแรก นอกจากการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาในวันนี้แล้ว เรายังได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษา ให้แก่ผู้บริหารจากโรงเรียน 92 แห่ง เเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้าน STEM เพิ่มศักยภาพของครูผู้สอน และสร้างความสนใจในการเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนให้เกิดขึ้นภายในสถานศึกษาได้อย่างแท้จริง” นางหทัยรัตน์ กล่าว
ด้านนายจอห์น ฎะซิลวา ผู้อำนวยการฝ่าย Corporate Engagement สถาบันคีนันแห่งเอเซีย เปิดเผยถึง ความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาไทยว่า “ด้วยภาพรวมคุณภาพการศึกษาเด็กไทยทั่วประเทศ กำลังอยู่ในสภาวะถดถอย เห็นได้จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่เด็กส่วนใหญ่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ก็ระบุว่า มีเด็กไทยถึง 10% เลิกเรียนกลางคันและเรียนจบต่ำกว่าระดับ ม.3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพเยาวชนที่จะไปพัฒนาประเทศในอนาคต”
“ซึ่งปัจจัยสำคัญของปัญหา เกิดจากเด็กส่วนใหญ่ขาดทักษะและความเข้าใจในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่เป็นหัวใจการเรียนรู้ทุกแขนง เนื่องด้วยพื้นฐานความเข้าใจที่ต่างกัน การใช้รูปแบบการสอนที่ขาดการเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กับความเข้าใจ เด็กจึงเบื่อหน่ายขาดความสนใจเรียนในที่สุด ดังนั้นการยกระดับการเรียนการสอนสองวิชานี้ จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ควรพัฒนาให้กับวงการการศึกษาไทย”
“เหตุผลที่เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรกในภาคอีสาน เนื่องจากมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคทางการศึกษา เป็นที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา อาชีวศึกษาและโรงเรียนทุกระดับชั้นจำนวนมาก จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดนำร่องในภาคอีสานก่อนขยายผลโครงการสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป” นายจอห์น กล่าว
ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “จังหวัดขอนแก่น แม้จะมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค มีสถานศึกษาทุกระดับชั้นรวมกันเกือบ 1,500 แห่ง และถูกยกให้เป็นเมืองหน้าด่านทางการศึกษาของภาคอีสาน หากก็ยังประสบปัญหาทางการศึกษาเช่นกัน โดยเด็กขอนแก่นยังมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (ประเมินจากค่าเฉลี่ย ONET ม.3) ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ประกอบกับมีเขตพื้นที่มากถึง 26 อำเภอ 198 ตำบล ซึ่งลักษณะทางกายภาพต่างกัน เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และความพร้อมทางการศึกษา แต่ละปีจึงมีเด็กที่เลิกเรียนกลางคันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้น่าจะส่งผลดีโดยตรงต่อเด็ก เยาวชน บุคลากร ทั้งจะช่วยแก้ปัญหา พร้อมยกระดับภาคการศึกษาให้กับจังหวัดขอนแก่นได้อย่างยั่งยืนแท้จริง”
ส่วน ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ หนึ่งในสถาบันที่เป็นศูนย์รวมความเป็นเลิศทางวิชาการ กลไกสำคัญแห่งการพัฒนาการศึกษา ทั้งเป็นศูนย์กลางการวิจัยคณิตศาสตร์ศึกษาและวิทยาศาสตร์ศึกษา ที่ผลิตครูป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย ซึ่งการเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ จะมีบทบาทสำคัญ คือ เป็นผู้นำแนวทางและองค์ความรู้การพัฒนาครูที่ได้รับจากโครงการฯ ไปร่วมถ่ายทอดให้กับครูในจังหวัดขอนแก่นต่อไป ทั้งในอนาคตก็จะเป็นศูนย์กลางการสานต่อกิจกรรมเหล่านี้ หลังจากจบโครงการฯ
อนึ่ง การลงนามบันทึกความร่วมมือในโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ถือเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา โดยจะมีการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ STEM ในปีแรก ใน 3 จังหวัดนำร่อง ทั้งขอนแก่น สงขลา และสมุทรปราการ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาในสาขา STEM อย่างยั่งยืนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit