นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า ในภาวะยางพารามีราคาตกต่ำ สกย. ได้เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกรในการปรับตัว เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง คือ พันธุ์ RRIT 251 และ พันธุ์ RRIT 408 ส่งเสริมให้เกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดินในแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สนับสนุนให้ขาวสวนยางรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสวนยางอย่างถูกต้อง รวมทั้งการหาแหล่งรายได้เสริมอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ สกย.ได้นำหลักปรัชญา"เศรษฐกิจพอเพียง" ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยางพารา เรียกว่า "สวนยางผสมผสานตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่ง สกย.มั่นใจว่า หากเกษตรกรชาวสวนยางสามารถทำได้ ไม่ว่า ยางพาราจะวิกฤตแค่ไหน ก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับหลักการทำสวนยางพาราผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น แต่ละพื้นที่อาจจะไม่เหมือนกัน จะต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม หลักสำคัญจะต้องอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ คุณธรรม ประกอบการวางแผน และการตัดสินใจ การทำสวนยางพาราผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เกษตรกรจะต้องไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ไม่ปลูกยางเพียงอย่างเดียวจะต้องปลูกไม้ยืนต้นอื่นๆ ในสวนยางด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากการเกษตรแบบทุนนิยมที่จะให้ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียวนายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำการเกษตรแบบทุนนิยม ใช่ว่าไม่ดี แต่จะดีสำหรับการทำการเกษตรในแปลงใหญ่ มีพื้นที่หลายร้อยหลายพันไร่ ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางของไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีพื้นที่ประมาณไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ค่อยรวมกลุ่มกัน ทำให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีความเข้มแข็งไม่เพียงพอ จึงไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรกรแบบทุนนิยม เพราะจะมีความเสี่ยงสูง สวนยางแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงลง แม้จะมีรายได้ไม่มากแต่ก็จะมีรายได้ตลอดทั้งปี ในขณะที่รายจ่ายน้อยลง ตามหลักที่ว่า "ปลูกพืชหรือทำทุกอย่างที่ใช้รับประทาน เหลือถึงขายสร้างรายได้เสริม" ซึ่งจริงๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมา สกย. ไม่ได้ห้ามเกษตรกรทำอาชีพเสริมอื่นๆ ในสวนยาง เพียงแต่ในอดีตราคายางดี เกษตรกรยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่ขณะนี้ราคายางตกต่ำ เกษตรกรจำเป็นจะต้องทำอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ เพราะจะพึ่งรายได้จากการทำสวนยางเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางมีข้อได้เปรียบที่มีทั้งที่ดิน และเวลาว่างเพียงพอที่จะทำอาชีพเสริมอยู่แล้ว ดังนั้นการทำสวนยางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรตลอดทั้งปี โดยพาะในช่วงที่ยางอายุไม่ถึง 7 ปี ยังไม่เปิดกรีด เกษตรกรก็สามารถใช้พื้นที่สวนยางประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างรอเปิดกรีดยาง เช่น เพาะเห็ดในสวนยาง ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัว เป็นต้น เมื่อยางเปิดกรีดแล้ว ก็ยังสามารถทำอาชีพเสริมเหล่านี้ต่อไปด้วย ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แม้แต่ในช่วงฤดูฝนที่หยุดการกรีดยาง เกษตรกรก็ยังมีรายได้เลี้ยงครอบครัวด้วย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถทำสวนยางพาราผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ และไม่ผิดระเบียบการขอรับเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง สกย. จึงได้แก้ระเบียบการให้เงินสงเคราะห์ในกรณีที่เกษตรกรโค่นสวนยางเก่าเพื่อปลูกใหม่ โดยอนุญาตให้ลดจำนวนต้นยางที่ปลูกจากไร่ละ76 ต้น เหลือไร่ละ 40 ต้นได้ ในขณะที่ยังได้รับเงินสงเคราะห์อัตราเดิมคือ ไร่ละ 16,000 บาท
ทั้งนี้ การปลูกยางพาราเหลือไร่ละ 40 ต้นนั้น ระยะห่างระหว่างต้นยางจะมากขึ้น ทำให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ควบคู่กับยาง อาจจะเป็นไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ ไม้ดอกไม้ประดับ ผักสวนครัว หรือ อาจจะปลูกยางควบคู่กับการทำปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ วัว แพะ แกะ ที่ไม่มีผลกระทบต่อการทำสวนยาง ในบางพื้นที่อาจจะขุดบ่อเลี้ยงปลาก็ได้ ซึ่ง สกย. พร้อมที่จะให้การสนับสนุน
นายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำสวนยางนั้นถือเป็นการใช้ที่ดินและเวลาให้คุ้มค่าเต็มศักยภาพ ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่ามีที่ดินเพิ่มขึ้น เช่น มีที่ดินทำสวนยางพารา 10 ไร่ ถ้าหากทำสวนยางพาราแบบทุนนิยม ก็จะได้ผลผลิตจากยาง 10 ไร่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้านำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ภายในที่ดิน 10 ไร่ดังกล่าว เปรียบเสมือน เกษตรกรสามารถปลูกพืชอย่างอื่นเสริมเข้าไปได้ เช่น ปลูกมะพร้าวก็มีสวนมะพร้าวอีก 10 ไร่ ปลูกมังคุด ก็จะมีสวนมังคุดเพิ่มอีก 10 ไร่ ปลูกผัก ก็จะมีแปลงพืชผักอีก 10 ไร่ หรือถ้าจะเลี้ยงสัตว์ด้วย ก็จะมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์อีก 10 ไร่ หรือจะขุดบ่อเลี้ยงปลาอีกก็ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน ทั้งๆที่มีจำนวนที่ดินเท่าเดิม"