คณะนักวิจัย ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เวทีภาคเหนือตอนบน ณ จังหวัดเชียงใหม่

23 Jun 2015
คณะนักวิจัยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ณ จังหวัดเชียงใหม่ ศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี --- มุ่งแสวงหาแนวทางเพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี และสร้างอาสาสมัครแกนนำถ่ายทอดความรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่

เมื่อวันอังคารที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ในช่วงเย็น (๑๘.๓๐ – ๒๑.๐๐ น.) คณะนักวิจัยโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าพบหารือและสัมภาษณ์ นางมยุรี ยุกตรี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีภาคเหนือตอนบน เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ต่อมาในวันพุธที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๘.๓๐-๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้วิจัยฯ นำโดย รศ. สุปราณี ศรีฉัตราภิมุข หัวหน้าโครงการวิจัย นางสาวพรรณราย ขันธกิจ นักวิจัย ดร.อุดม มุ่งเกษม ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นางสาววัชรา ไชยสาร นักวิจัย พร้อมคณะ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีภาคเหนือตอนบน เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส โดยได้รับเกียรติจาก นางมยุรี ยุกตรี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนองค์กรด้านคนพิการทุกประเภท ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เข้าร่วมการประชุม จำนวน ๓๗ คน

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. คณะนักวิจัยฯ นำโดย ดร.อุดม มุ่งเกษม ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ นายนุกูล สัญฐิติเสรี นักวิจัย พร้อมคณะ เข้าศึกษาดูงาน ณ มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว (www.donkaewlocal.go.th, www.facebook.com/pr.donkaew) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส การนี้ คณะผู้วิจัยฯ ได้พบหารือและสัมภาษณ์ นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายก อบต.ดอนแก้ว และ นายยุทธนา บุญสูง รองนายก อบต.ดอนแก้ว พร้อมกับเจ้าหน้าที่ และตัวแทนผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนดอนแก้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอทราบประสบการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ประเด็นสำคัญที่ขอรับทราบความคิดเห็น ได้แก่ ชุมชนมีการใช้สื่อใหม่ ผ่านช่องทางการสื่อสารโทรคมนาคมที่หลากหลาย เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคในข้อใดบ้าง เช่น ขาดอุปกรณ์ (ตัวอย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ (สมาร์ทโฟน), ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ หรือไม่เห็นประโยชน์และไม่ต้องการใช้ หรือข้ออื่นๆ พร้อมทั้งขอรับทราบความเห็น และความต้องการของชุมชนในการให้ กสทช. สนับสนุนการได้ใช้ประโยชน์สื่อใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของ คนพิการ ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

ต่อมาในเวลา ๑๓.๐๐–๑๕.๐๐ น. คณะวิจัยฯ เข้าศึกษาดูงาน ณ สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ (Viengping Children's Home--http://baanviengping.go.th) เลขที่ ๖๓/๓ หมู่ที่ ๔ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสวงหาแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส การนี้ คณะผู้วิจัยฯ ได้พบหารือและสัมภาษณ์ นางสุรีย์พร ชูสุข ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ นางจิราพร เชาวน์ประยูร ยามาโมโต้ ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์เด็กชาย บ้านเชียงใหม่ และนายวิเชียร ในจ๊ะ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีประเด็นหารือ/สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ ประเด็นสำคัญที่ขอรับทราบความคิดเห็น คือ สถานสงเคราะห์ฯ ได้ใช้ประโยชน์จาก สื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์หรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคในข้อใดบ้าง และความต้องการของสถานสงเคราะห์ในการให้ กสทช. สนับสนุนการได้ใช้ประโยชน์สื่อใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของผู้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ฯ

เวลา ๑๕.๓๐–๑๗.๐๐ น. คณะนักวิจัยฯ เข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านธรรมปกรณ์เชียงใหม่ (http://thammapakorn.go.th) เลขที่ ๑ ถนนมูลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ การนี้ได้พบหารือและสัมภาษณ์ นางมิ่งขวัญ วีระชาติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ เชียงใหม่ และ นางมลินี โล่ห์ชิงชัยฤทธิ์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านธรรมปกรณ์เชียงใหม่ มีพันธกิจในการจัดบริการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ พัฒนาองค์กรให้เป็นศูนย์ต้นแบบการจัดบริการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุระดับประเทศ โดยมีเป้าหมาย ให้ผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่) ดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขในบันปลายชีวิต ผู้สูงอายุมีศักยภาพสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ มีเครือข่ายการทำงานด้านผู้สูงอายุที่เข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นองค์กรต้นแบบด้านการจัดบริการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุที่ได้มาตรฐานวันศุกร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. คณะนักวิจัยฯ เข้าศึกษาดูงาน ณ สภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดเชียงใหม่ (www.chiangmaidc.com, www.facebook.com/disabilitieschiangmai) และ มูลนิธิบ้านสมานใจ (http://hffcm.org,www.facebook.com/healingfamilyfoundation) ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้พบหารือกับ นายไวยวัต ณ เชียงใหม่ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดเชียงใหม่ และ นายประดิษฐ์ ปรีชานนท์ ประธานกรรมการดำเนินงานมูลนิธิบ้านสมานใจ ในการนี้ คณะผู้วิจัยได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์บริการคนพิการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ โดย ชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดเชียงใหม่ สภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดเชียงใหม่, ศูนย์พัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อคนพิการ (ซาโอริ) มูลนิธิบ้านสมานใจ ซึ่งให้การดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการออทิสติก

ต่อมาเวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. คณะนักวิจัยฯ ได้เข้าศึกษาดูงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา (อบต.ข่วงเปา) หมู่ที่ ๑๒ ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เข้าพบหารือ/สัมภาษณ์ นายรุ่งสุริยา เชียงชีระ นายก อบต.ข่วงเปา เพื่อขอทราบประสบการณ์และข้อเสนอแนะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน รวมทั้ง ความต้องการของชุมชนในการให้ กสทช. สนับสนุนการได้ใช้ประโยชน์สื่อใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี

ผลการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เวทีภาคเหนือตอนบนในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้แทนองค์กรคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการและสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครแกนนำถ่ายทอดความรู้ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีสู่คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส มีข้อเสนอแนะแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ที่สำคัญ ดังนี้

๑) แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบต.) สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อจัดบริการอินเทอร์เน็ต/Wi-Fi ฟรีแก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบได้ เนื่องจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นหัวใจหลักที่สำคัญในการเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน เชื่อมทุกคนเข้ากับเครือข่ายเพื่อใช้บริการสาธารณะ

๒) สนับสนุนการจัดบริการ Wi-Fi ฟรี การจัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ต แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานสงเคราะห์ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม ศูนย์การเรียนรู้ มูลนิธิ ที่มีการรวมตัวของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส โดยให้มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรหรือองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี สื่อใหม่อย่างรู้เท่าทันแก่ผู้ใช้บริการกลุ่มดังกล่าวด้วย รวมทั้งมีการบริหารจัดการการเข้าใช้งานที่ดี มีการเก็บฐานข้อมูลผู้ใช้ เพื่อควบคุมการดาวน์โหลด หรือใช้งานที่ไม่เหมาะสม

๓) ค่าบริการในเครือข่าย 3G หรือ 4G ควรจะลดตำลงกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้ FaceTime (การติดต่อสื่อสารมองเห็นหน้า) ซึ่งจะทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น เพิ่มกำลังใจให้กับผู้สูงอายุ เป็นต้น

๔) กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการกำกับดูแล การคุ้มครองผู้บริโภค การควบคุมการให้บริการโทรคมนาคม สื่อใหม่ต่างๆ เพื่อให้มีการเรียกเก็บค่าบริการที่เหมาะสม และป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

๕) กสทช. ควรสนับสนุนการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ชุมชน โดยมีชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ หรือการให้องค์ความรู้สำหรับประชาชนทุกกลุ่มในท้องถิ่น เรื่ององค์ความรู้ของท้องถิ่น การดูแลสุขภาพ การประกอบอาชีพ เป็นต้น

๖) เพิ่มช่องทางในการสื่อสารไปยังกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผ่านการส่งสัญญาณภาพ โดยใช้อินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) ไปยังจอ LED ขนาดใหญ่ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบต.) ซึ่งติดตั้งไว้ในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อกระจายข่าวสารต่างๆ แก่คนในพื้นที่

๗) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี สื่อใหม่ต่างๆ ในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือหรือสื่อในการเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ หรือการดำเนินงาน เช่น อสม. ใช้รายงานการเจ็บป่วยของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนที่ตนเองอยู่ การส่งข้อความ รูปภาพ วีดีโอ ผู้ที่เจ็บป่วยผ่านแอพพลิเคชันไลน์ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) เพื่อวินิจฉัยและให้คำแนะนำในการรักษาในเบื้องต้น หรือใช้ในการส่งรายงานต่างๆ เข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว

๘) การดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ควรบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับโครงการของหน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลางที่มีนโยบายสอดคล้อง หรือใกล้เคียงกัน ก่อนถ่ายทอดโครงการลงมาสู่ท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้ท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานที่เป็นปลายทางก่อนจะถึงประชาชนได้เข้าใจ และส่งเสริมให้เป็นภาพกว้างและประสานประโยชน์ร่วมกัน

๙) ควรให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่มีจิตอาสาในการเข้าสนับสนุนการดำเนินงาน โดยใช้เทคโนโลยี สื่อใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความรวดเร็วในการดำเนินงาน

๑๐) ค่าบริการรายเดือนของเคเบิลทีวีควรมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ หรือไม่คิดค่าบริการ ในส่วนของช่องรายการสำหรับเด็ก และ กสทช.ควรควบคุมดูแลรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น การให้องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ทั้งการดูแลตนเอง การรักษาสุขอนามัย การปรับตัวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่น เรียนรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้มากขึ้น

๑๑) กสทช. ควรสนับสนุนการจัดทำห้องปฏิบัติการ (War room) เพื่อเฝ้าระวังทางสังคม การแจ้งเหตุความรุนแรง/การเจ็บป่วยของเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและคนทั่วไป ได้อย่างทันที รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้รายบุคคลด้วย และ/หรือสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลในระดับท้องถิ่น การประมวลผลเป็นสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการ มีการวิจัยเครื่องอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีเพื่อมาอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส การตรวจสอบความปลอดภัยสำหรับกลุ่มเป้าหมาย มีการกำหนดพิกัดในการติดตามช่วยเหลือ

๑๒) กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-Commerce) หรือช่องทางการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และสินค้าจากคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการฝึกอบรมให้ความรู้ การจัดตั้งศูนย์เจรจาทางธุรกิจ เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น การแก้ไขปัญหาโรคพืช ปัญหาจากการเพาะปลูก การผลิต การตลาด เป็นต้น

๑๓) แนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเจรจาทางธุรกิจ ของ กสทช. จะต้องมีการหารือในรายละเอียดก่อนที่จะมีการดำเนินการ เพื่อให้ได้รูปแบบธุรกิจที่ตรงกับศักยภาพของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อผลักดันให้บุคคลกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม

๑๔) ควรสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีระบบการจัดการความรู้ ในการรวบรวมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ภูมิปัญญาจากผู้สูงอายุ เพื่อเก็บรักษาภูมิปัญญาให้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นหลังต่อไป

๑๕) กสทช. ควรผนวกการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี เข้ากับกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ที่มีหน่วยงานอื่นดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอาจเพิ่มเป็นหลักสูตร หรือกิจรรมในโครงการดังกล่าว เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ อบต.ดอนแก้ว (อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่) ดำเนินโครงการมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข มีการเปิดหลักสูตรการเรียนแก่ผู้สูงอายุ เป็นหลักสูตรระยะสั้นเริ่มต้นตั้งแต่ ๓ เดือน ๖ เดือน ๑ ปี ที่แตกต่างกันในแต่ละวิชา เมื่อศึกษาจนจบหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตรที่ผ่านการรับรองจาก สสส. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข (อบต.ดอนแก้ว) เรียกว่าใบปัญญาบัตร เป็นต้น

๑๖) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สื่อใหม่ในการป้องกันความพิการ โดยต้องมีการให้ความรู้ผ่านสื่อใหม่ การผลิตสื่อหรือช่องทางในการรณรงค์ เพื่อป้องกันความพิการ เป็นการเฝ้าระวังก่อนการเกิดเหตุ

๑๗) ส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสื่อที่เหมาะสมสำหรับคนพิการทางด้านสติปัญญา เพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเด็กออทิสติก คนพิการมีช่องทางการสื่อสารระหว่างกันมีกิจกรรมร่วมกัน

สำหรับท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทาง ปัจจัยเอื้ออำนวย และนวัตกรรมในการเข้าถึง รู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์จาก “สื่อใหม่” ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี หรือแนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี สามารถแสดงร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.convergencebtfpfund.net