นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสู่อนาคตและทางออกของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่ประกอบด้วย กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ แล้วเห็นว่า การเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในภาวะขาดแคลนแรงงาน และสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเชียนได้อย่างเต็มที่ ไทยจะต้องพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายของทั้ง 3 อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย (Fashion Cluster) เพื่อปฏิรูปรูปแบบธุรกิจที่เน้นความร่วมมือกัน เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า พัฒนาตลาดอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ให้เป็นแรงดึงดูดการค้าจากทั่วโลกผ่านประเทศไทย เตรียมอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้มีการสร้างสรรค์ครบวงจร มุ่งสู่การเป็น Trading Nation ตามแนวนโยบายของรัฐ
การรวมกลุ่มเครือข่ายที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น ไม่จำกัดกรอบแต่เพียงรวม กลุ่มการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการค้าปลีก ค้าส่ง การตลาด การท่องเที่ยวจนถึงธุรกิจออกแบบและภาคบริการที่เกี่ยวข้อง แนะนำแนวทางการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งได้ 6 รูปแบบ ตามความเหมาะสมกับตลาดเป้าหมายและระดับของแฟชั่น ได้แก่ 1) การรวมกลุ่มด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (Design and Creative Cluster) เน้นสร้าง Value Creation ผ่านงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2) การรวมกลุ่มด้านการสร้างแบรนด์ (Branding Cluster) เน้นสร้างความเชื่อมั่น ความไว้ใจและสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ให้กับลูกค้า 3) การรวมกลุ่มด้านการตลาด (Marketing Cluster) เน้นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความหลากหลาย พัฒนาพื้นที่ตลาด ขยายส่วนแบ่งการตลาด ลดต้นทุนทางการตลาด เสริมสร้างความชัดเจนของตำแหน่งทางการตลาด และการลดต้นทุน โลจิสติกส์ 4) การรวมกลุ่มด้านการผลิต (Production Cluster) เน้นบริหารจัดการความเสี่ยง บริหารต้นทุนร่วมกันแบบ lean supply chain สร้างข้อได้เปรียบของการผลิตที่ตอบสนองตลาดได้รวดเร็ว 5) การรวมกลุ่มด้านวิจัยและพัฒนา (R&D Cluster) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันระยะยาว พัฒนาทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมกระบวนการ (Product & Process Innovation) ยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และ 6) การรวมกลุ่มด้านการบริการ (Service Cluster) เน้นสร้างประสิทธิภาพของระบบการตอบสนองตลาด เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ การเงิน ภาคการผลิต ภาคบริการและภาครัฐ พร้อมตอบสนองตลาดโลกได้ครบทุกมิติ
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวอีกว่า สศอ. ได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาและเป้าหมายของแผนพัฒนา การรวมกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวเป็น 3 ระยะ โดย 5 ปีแรก จะมุ่งเน้นการเป็นศูนย์รวมการจัดการวัตถุดิบในระดับภูมิภาค โดยส่งเสริมคลัสเตอร์การออกแบบ และการผลิตเพื่อลดต้นทุนทั้งระบบ เพิ่มความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ระยะ 10 ปี มุ่งการสร้างเครือข่ายเพื่อการตลาดและ R&D ให้สมบูรณ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการออกแบบสินค้าแฟชั่น รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ระยะยาว 20 ปี มุ่งเน้นพัฒนาแบรนด์ไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก เน้นการสร้างคุณค่าเชิงพื้นที่ ให้การออกแบบแฟชั่นไทยเป็นมาตรฐานอ้างอิง ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับสากล
“ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกมากกว่าปีละ 500,000 ล้านบาท การบริโภคในประเทศกว่า 320,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน ถึงแม้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยจะมีการชะลอตัว แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยลักษณะของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันยังขาดการรวมตัวอย่างมีระบบ อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องมีแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาคลัสเตอร์ให้เหมาะสมกับบริบทและเป้าหมายร่วมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะทำให้มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและสร้างแบรนด์ไทยก้าวสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นนำของโลกได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์เชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในทุกมิติและรองรับการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ควรมีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถสนับสนุนทั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาในเชิงวิศวกรรมไปควบคู่กัน จึงเสนอให้จัดตั้ง “พื้นที่ทางความคิด (Fashion Idea Space)” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์สู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ลดต้นทุนและความเสี่ยงด้านออกแบบ และ R&D ของ SMEs ช่วยผลักดันการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ในรูปแบบ Design and Development Cluster ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะประกอบด้วย เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อทำต้นแบบ ที่ทันสมัยพร้อมผู้ชำนาญการ ศูนย์ข้อมูลแนวโน้มแฟชั่น ห้องตัวอย่างวัตถุดิบที่หลากหลายและทันสมัย ศูนย์พัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ห้องจัดแสดง ห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ที่จำเป็น และมีระบบการจัดการแบบมืออาชีพ มีเป้าหมายในการปรับศักยภาพด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ประกอบการแฟชั่น ให้เทียบเท่าสากล และสามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์มาแล้วในหลายรูปแบบ แต่สำหรับการส่งเสริมกลุ่ม คลัสเตอร์แฟชั่นซึ่งมีห่วงโซ่มูลค่าที่ซับซ้อน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการวางระบบเพื่อรองรับการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง เน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายและได้รับประโยชน์ร่วมกัน กำหนดแนวทางการรวมกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสำหรับสมาชิกทุกรายในคลัสเตอร์ รัฐอาจจะส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ดังที่ได้กล่าวแล้วเพื่อให้การรวมกลุ่มเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ยังต้องมีมาตรการร่วมระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อให้การบริหารจัดการกลุ่มมีความยั่งยืน เช่น การพัฒนา Cluster Development Agent การจัดหาข้อมูลและจัดการองค์ความรู้ การวางแนวทางบริหารจัดการกลุ่ม โดยส่งเสริมให้แต่ละคลัสเตอร์มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีทิศทางการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน
“อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันในการสนับสนุนการดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างต่อเนื่องตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยตั้ง Fashion Idea Space เชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์แฟชั่น พร้อมสามารถดัน Thai Brand แข่งตลาดโลก คาดว่า จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 3-4 จากมูลค่าการส่งออกและการบริโภคทั้งภายในประเทศและอาเซียน” ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit