ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายอรุณ ลีธนาโชค หนึ่งในสองนักวิชาการที่ลาออก กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์นั้น ต้องได้รับการแต่งตั้งจาก คตช.ให้เป็นกรรมการสังเกตการณ์ และได้ทำข้อตกลงคุณธรรมไว้ว่า ผู้สังเกตการณ์จะหมดวาระได้ ต่อเมื่อส่งมอบรถบัสให้ ขสมก.เท่านั้น ดังนั้นสาเหตุที่ลาออกไม่เป็นไปอย่างที่ ขสมก.พูด ว่า ตนหมดวาระ นั้นไม่เป็นความจริงเด็ดขาด ส่วนสาเหตุที่ลาออกตนไม่ต้องการพูดถึง แต่ได้ทำหนังสือรายงานข้อเท็จจริงไปยัง คตช.แล้ว
ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ชนะการประมูลราคารถเมล์ของ ขสมก.กล่าวว่า โครงการนี้เราติดตามมาตลอด เหตุที่ 2 ครั้งแรกที่ไม่ได้เข้าประมูลเพราะต้นทุนมันต่ำเกินไป ราคากลางจาก 4.5 ล้านบาท เหลือ 3.65 ล้านบาทต่อคันบริษัทตนทำไม่ได้ จนกระทั่งบริษัท Boonlak พันธมิตรของบริษัทตนที่อยู่ประเทศจีนเข้ามาคุยว่า สามารถทำให้ราคาต้นทุนถูกลงได้ จึงได้เข้าประมูลในครั้งสุดท้าย แล้วก็ชนะ Boonlak มีประสบการณ์เรื่องรถบัสทั้งด้านคุณภาพและราคา และต้องดูแลรถชุดนี้ไปนานถึง 10 ปี ในเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้วบริษทได้นำรถชนิดนี้มาทดลองวิ่งและได้ขายให้ลูกค้าแล้วทุกวันนี้ยังใช้อยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในทีโออาร์ ได้ระบุหรือไม่ว่า รถจะต้องถูกนำเข้าหรือมาประกอบในเมืองไทย นายสุรเดช กล่าวว่า ในทีโออาร์ล็อตนี้ไม่ได้ระบุ เปิดกว้างให้ทำได้ทั้งสองแบบ ซึ่งที่ ช.ทวี ใช้ประกอบบางส่วนในต่างประเทศและประกอบในเมืองไทย ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษีบริษัทเสียภาษีอย่างถูกต้องทั้งหมดได้ปรึกษาทางกรมศุลกากรทั้งหมดแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า ช.ทวี ไม่เคยดำเนินประกอบรถเมล์ แล้วจะสามารถดำเนินการได้หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. ช.ทวี กล่าวว่า บริษัทเคยทำสมัยที่ตนยังเด็กๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีโรงงานผลิตรถบัส จุดนี้เพียงแค่เอางานเดิมมาดำเนินการใหม่เท่านั้น แม้ว่าจะไม่เคยประมูลรถบัสในหน่วยราชการก็ตาม เคยประมูลซ่อมรถบัสของสำนักงานสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าบำรุงรักษาต่อวันต่อคันเท่าไหร่ นายสุรเดช กล่าวว่า ใน1-5 ปีแรกราคา 925 บาท ส่วน 6-10 ปี ประมาณ 1,600 กว่าบาท ตอนนี้ได้เตรียมรถไว้พร้อมหมดแล้ว รอเพียง ขสมก.จะเรียกเข้าไปทำสัญญา ผู้สื่อข่าวถามว่า การประมูลยังไม่รู้ว่า ใครจะชนะประมูลแล้วบริษัทได้เตรียมรถไว้พร้อมหมดแล้ว ทำให้มองว่า ขสมก. เลือกบริษัทไว้ล่วงหน้าแล้ว นายสุรเดช กล่าวว่า ยืนยันว่า ไม่ใช่ ตนลุ้นทุกครั้งกดราคาประมูล ไม่ได้มีธงไว้ล่วงหน้าเลย ตนไม่เคยพบกับ ผอ.ขสมก. ไม่ได้ ดิวงานหรือทำข้อตกลงอะไรเลย ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใด ขสมก.ถึงไม่เรียกอีกบริษัทเข้าร่วมเปิดซองประมูลค่าบำรุงรักษารถ นายสุรเดช กล่าวว่า การประมูลมีสองอย่างๆ แรกประมูลซื้อขายรถแบบอีออกชั่น และต้องส่งซองซ่อมบำรุงอีก เมื่อบริษัทชนะประมูลรถแล้วต้องเปิดซองประมูลค่าบำรุงรักษา ปรากฏว่า บริษัทให้ราคาต่ำกว่าคู่แข่ง ตามปกติระบบราชการไม่มีสิทธิ์เรียกบริษัทที่ให้ราคาสูงกว่ามาต่อรองราคาอีก เพราะบริษัทให้ราคาที่ต่ำกว่าทั้งราคาซ่อมและราคาประมูล ชนะขาดทั้งสองอย่าง “บริษัทคู่แข่งทำไมไม่เขียนราคาที่ต่ำกว่าตน มีเจตนาเอาเปรียบราชการหรือเปล่า หรือกะไว้เผื่อใครหรือไม่ โครงการนี้ถ้าไม่เกิดขึ้น แสดงว่า ความโปร่งใสในเองไทยไม่มี แล้วตนจะไปหาประธานภาษีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นแล้วบอกว่า ทำโปร่งใสแล้วไม่ได้ ประเทศไทยต้องสกปรก บริษัทดำเนินการทุกอย่างๆโปร่งใส ถูกต้อง ฉะนั้นรัฐบาล และ ขสมก.จะต้องยันให้ตนว่า ทำถูกต้องแล้ว หากมีการยกเลิกโครงการตนจะฟ้องร้อง ขสมก.”
นายเค่อนัว หลิน ประธานบริษัท เบสรินกรุ๊ป จำกัด ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนที่ห้องอาหารเพลิน ถนนวิภาวดี ปรากฏว่ามีลื่อมวลชนมาทำข่าวกันเป็นจำนวนมาก ว่า ช่วงเช้ามีโทรศัพท์เข้ามาหาอ้างว่า โทรมาจากกองทัพภาคที่ 1 ให้ตนเข้าพบในเช้าวันที่ 15 มิ.ย.เพื่อขอข้อมูล แต่ตนได้สอบถามชื่อและตำแหน่ง และให้ไปพบใคร แต่ต้นสายไม่ยอมบอก ตนจึงไม่แน่ใจว่าเป็นใคร จึงขอคิดดูก่อนว่าจะเข้าพบหรือไม่ นอกจากนี้นายเค่อนัว หลิน ยังอ้างถึง คำพูดของนายสุรเดช บริษัท ช.ทวี ยืนยันว่า ทีโออาร์เปิดกว้างให้นำรถบัสเข้ามาได้ทั้งคันหรือประกอบภายในประเทศได้นั้น ไม่น่าเป็นความจริง เพราะดูจากทีโออาร์หน้าที่ 6 (7)ระบุว่า ผู้ประมูลจะต้องได้ใบรับรองมาตรฐาน ISO และใบ รง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่า จะประกอบเองหรือนำเข้าจากต่างประเทศต้องใช้เอกสารรับรองของโรงงานนั้นๆ หรือของโรงงานจากต่างประเทศที่ผลิตจริงเท่านั้น แต่ ช.ทวี ได้เสนอเอกสารประกอบการพิจารณาไปแล้วว่า จะประกอบรถยนต์ภายในประเทศ ดังนั้นรถที่จะส่งมอบทั้งหมดจะต้องถูกประกอบที่โรงงานตามที่ระบุในเอกสาร ไม่อย่างนั้นรายอื่นก็ทำได้ และ ขสมก.เคยไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตที่ประเทศจีนว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ตนเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร่วมประมูลหลายราย และอีกอย่าง ช.ทวี มั่นใจได้อย่างไรว่าจะเป็นผู้ชนะ ถึงได้กล้าออกมาระบุว่า ได้ผลิตรถยนต์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ในฐานะนักธุรกิจหรือพ่อค้า คงไม่มีใครกล้าลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลกว่าพันล้าน ทั้งที่ผลการประมูลยังไม่รู้แพ้รู้ชนะ
นายเค่อนัว หลิน ยังกล่าวอีกว่า ตนยอมรับที่จะเป็นผู้แพ้ได้ ถ้ายืนอยู่บนกติกาเดียวกัน แต่ถ้าสองมาตรฐานเลือกข้างปฎิบัติตนคงยอมไม่ได้ หากวันที่ 15 มิ.ย.ยังมีการลงนามในสัญญา ตนขอบอกตรงนี้เลยว่า ในฐานะนักธุรกิจชาวจีนที่มาปักหลักทำธุรกิจในเมืองไทยมากว่า 14 ปี จะเป็นแกนนำร่วมกับองค์กรอิสระภาคเอกชน ขอตรวจสอบทุกขั้นตอนไม่ว่าจะที่โรงงานประกอบรถยนต์หรือ่องทางการนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ช.ทวี ดำเนินงานผลิตภายในระยะเวลา 3 เดือนได้ทัน 489 คัน และทุกคันที่จะส่งมอบให้ ขสมก.ต้องมีที่มาถูกต้องโปร่งใสและขัดเจน
ที่ห้องประชุม ขสมก.นางปราณี ศุกระศร รก.ผอ.ขสมก. กล่าวว่า การเปิดซองจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามทีโออาร์และระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเลกทรอนิกส์ เหตุที่ไม่มีการให้ทางบริษัท เบสทรินกรุ๊ป เข้ามาเจรจาเนื่องจากข้อเสนอราคารถเมล์และเงื่อนไขค่าซ่อมรถระยะ 10 ปี มีราคาสูงกว่า บมจ.ช.ทวี ทุกๆ ด้าน ดังนั้นการที่ ขสมก.เปิดเจรจากับ ช.ทวี จึงชอบด้วยขบวนการขั้นตอนการประมูล และเป็นไปคำแนะนำจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเลกทรอนิกส์ (กวพ.อ.)กระทรวงการคลัง เพราะทีโออาร์การจัดซื้อรถเมล์ 489 คันเป็นการจัดซื้อเร่งด่วนด้วยวิธีพิเศษตามมติ ครม.และเป็นโครงการจัดซื้อรถเมล์โดยเฉพาะ แต่เพิ่มเงื่อนไขการซ่อมบำรุง 10 ปี ซึ่งทาง ช.ทวี เสนอราคาคันละ 3.54 ล้านบาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,735 ล้านบาท ขณะที่ค่าซ่อมบำรุง 10 ปีอยู่ที่ 2,286 ล้านบาท เฉลี่ยตกคันละ 1,600 บาทต่อคันต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าซ่อมรถเมล์ของ ขสมก.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคันละ 1,700 บาทต่อวันต่อคัน ขณะที่บริษัท เบสทรินกรุ๊ป เสนอราคารถเมล์คันละ 3.57 ล้าน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,745 ล้านบาท ค่าซ่อมบำรุง 10 ปีอยู่ที่ 4,396 ล้านบาท เฉลี่ยตกคันละ 4,000 บาทต่อคันต่อวัน
นางปราณี กล่าวว่า นอกจากนี้ในทีโออาร์ ยังเปิดกว้างไม่ได้ระบุว่า จะต้องเป็นรถนำเข้าทั้งคันหรือประกอบภายในประเทศ กำหนดเพียงว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องส่งรถเมล์พร้อมให้บริการทั้ง 489 คันภายใน 90 วัน นับจากเซ็นสัญญา และหากส่งล่าช้าจะต้องถูกปรับคันละ 1 หมื่นบาทต่อวัน ส่วนการซ่อมบำรุงนั้น ผู้ชนะการประมูลจะต้องมาตั้งศูนย์บริการภายในอู่ของ ขสมก.ที่รังสิต บางเขน แสมดำ และพระประแดง ไม่มีการนำรถไปซ่อมที่ศูนย์เอกชนภายนอก อย่างไรก็ตามหากสุดท้าย ขสมก.ไม่สามารถทำสัญญากับ บมจ.ช.ทวี ได้ จะต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการประมูลใหม่ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะลงนามในสัญญาได้