นาย Gregory J. Burrows กล่าวเน้นว่า การเกษียณอย่างมีคุณภาพนั้นจะต้องเกิดจากความร่วมมือของ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐซึ่งควรสนับสนุนการออมโดยอาจตรากฎหมายบังคับ ส่งเสริมการออมภาคสมัครใจหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี ด้านนายจ้างควรให้ความรู้ถึงความสำคัญด้านการออมเพื่อการเกษียณแก่ลูกจ้าง สนับสนุนให้มีการออมภาคสมัครใจ โดยนายจ้างออมไม่น้อยกว่าลูกจ้าง ในขณะที่ลูกจ้าง ควรให้ความสำคัญเรื่องการออมเพื่อการเกษียณอายุ โดยไม่หวังเพิ่งลูกหลาน ออมตั้งแต่ยังอายุน้อยและออมอย่างต่อเนื่องและกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้บริหารกองทุน ควรให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการสร้างความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญเรื่องการออมเพื่อการเกษียณอายุ และมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายให้เหมาะกับความต้องการของสมาชิก
นอกจากข้อเสนอแนะเรื่องแผนการลงทุนแบบ Target Date แล้ว ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ จากนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้างานลงทุน สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นาย Alejandro Echegorri, CEO, ASEAN Region ของ CIMB-Principal Asset Management โดยต่างให้ความเห็นและข้อเสนอแนะภายใต้หัวข้อเรื่อง ‘เปิดประตูสู่ความสำเร็จเพื่อการวางแผนเกษียณอายุสำหรับประชากรไทย’ โดยมีนายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นตรงกันว่า ประชาชนทุกคนควรให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ และเป็นภาระความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล โดยไม่ควรหวังพึ่งภาครัฐหรือลูกหลานเป็นหลัก แนะนำให้เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่อายุยังน้อยและให้ทำอย่างต่อเนื่อง โดยเลือกแผนการลงทุนในหุ้นบ้าง เพื่อให้เงินเติบโตเพียงพอต่อการเกษียณอย่างมีคุณภาพ (ออมและลงทุนเพื่ออนาคตที่ไม่อนาถา) ในขณะที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณอายุ (Financial Literacy) ตั้งแต่เยาว์วัยและประชาชนควรใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐให้มาอย่างเต็มที่ สำหรับผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอาจเลือกแผนการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนสินทรัพย์การลงทุนอัตโนมัติให้เหมาะสมกับช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น พยายามสอนเรื่องการลงทุนในหุ้นให้เป็นเรื่องง่ายโดยการให้ความรู้ตั้งแต่เด็ก
ในส่วนของกองทุนประกันสังคมก็เช่นเดียวกัน ควรจะต้องมีการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการนำส่งให้มากขึ้นและปรับแผนการลงทุนให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพื่อให้กองทุนสามารถมีเงินมากเพียงพอให้แก่สมาชิก ซึ่งการปรับเพิ่มนี้อาจจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างมากเกินไป
นักลงทุนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล 02686-9595 www.cimb-principal.com