นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเปิดเผยว่า การเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร ประจำปี 2558 ในครั้งนี้ทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯได้ร่วมกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่กระจายความรู้และความสำคัญของการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรโดยมอบหมายให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำรายชื่อผู้สมัคร และหมายเลขผู้สมัครประกาศผ่านเสียงตามสายภายในชุมชนในส่วนของความพร้อมในด้านการเตรียมการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูได้มีการประชุมหารือร่วมกับกรมการปกครองโดยการจัดอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมั่นใจถึงความพร้อมดังนั้นสำนักงานกองทุนฯคาดหวังว่าผู้แทนเกษตรกรจะต้องเป็นตัวแทนเกษตรกรที่สะท้อนปัญหาได้อย่างแท้จริงและรับใช้ประชาชนให้มากขึ้นเพราะขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหา 3 กรณี คือ 1.พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 2.ปัญหาภัยแล้ง และ 3. รายได้ลดลง ทั้ง 3 กรณีเป็นปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข ซึ่งจะเป็นการสะท้อนให้สังคมรับรู้ว่าเกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจะเป็นผู้ที่สะท้อนปัญหาของเกษตรกรว่าอยู่ตรงไหน
ทั่วประเทศมีสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรกว่า 5.4 ล้านคน แต่ในการเลือกตั้งทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสูงสุดเพียง 19% แต่จากการเตรียมความพร้อมข้างต้น ในครั้งนี้ทางสำนักงานกองทุนฯได้ตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ์ถึง 30% และหากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปต้องทำให้ได้ถึง 50%
สำหรับองค์ประกอบของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานโดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทยปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 11คน ร่วมเป็นกรรมการและมีผู้แทนเกษตรกรจำนวน 20 คน เป็นกรรมการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเกษตรกรใน 4 ภูมิภาคอย่างน้อยภูมิภาคละ 2คนส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามสัดส่วนของสมาชิกเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้อย่างตรงเป้าที่สุด
หลังจากที่มีการเลือกตั้งเกษตรกรในวันที่ 28 มิ.ย.2558 ไปแล้วสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จะมีการขับเคลื่อนอย่างเด่นชัด และเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานภายใต้ศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยหน้าที่การทำงานของศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่เกิดจากรัฐหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หนี้ที่เป็นของสมาชิกกองทุน และหนี้กยส. โดยรัฐได้มีงบประมาณลงมาให้แก้ไขปัญหาจำนวน 3 พันล้านบาทซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 10,000 คนทั้งนี้จะได้กำหนดแนวทางการกำจัดวงจรหนี้ให้กับเกษตรกรที่มาจากการลงลงทุนในปัจจัยการผลิตนอกจากนี้การทำการเกษตรปัจจุบันเหลือเพียงผู้สูงอายุคนหนุ่มสาวหันไปทำอาชีพอื่นดังนั้นจึงต้องดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่กลับมาให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรมากขึ้นเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว
“ในวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย. ที่จะถึงนี้จึงอยากเชิญชวนสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งสำคัญ ที่มีผู้สมัครทั้งหมด 92 คนทั่วประเทศ ให้เหลือเพียง 20 คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรได้เกิดประโยชน์แก่ตัวเกษตรกรเอง”นายวัชระพันธุ์ กล่าว