พม. ปรับปรุงคณะอนุกรรมการฯ ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพ

18 Jun 2015
วันนี้ (๑๗ มิ.ย. ๕๘) เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่ห้องประชุม ๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ ว่า คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ในการนำเสนอมาตรการ แนวทาง ข้อคิดเห็น และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งปัจจุบันมีคณะอนุกรรมการฯ จำนวน ๕ คณะ ประกอบด้วย

๑.คณะอนุกรรมการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

๒.คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก

๓.คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรการกลไกเพื่อการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

๔.คณะอนุกรรมการประเมินและติดตามผลการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก

๕.คณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์และโครงสร้างของหน่วยงานในปัจจุบัน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมครั้งนี้ พิจารณาปรับปรุงคณะอนุกรรมการฯ ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ดังนี้ ๑.คณะอนุกรรมการฯที่เห็นสมควรปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่จำนวน ๓ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็ก คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรการกลไกเพื่อการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และ คณะอนุกรรมการประเมินและติดตามผลการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ๒.ยุบเลิกคณะอนุกรรมการ จำนวน ๒ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และ คณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม และ ๓.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติม ๑ คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจวางแนวทางการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กผู้ต้องหาที่มีอายุก่อนถึงเกณฑ์การรับโทษทางอาญา

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาถึงความคืบหน้าของร่างแผนแม่บทการคุ้มครองเด็ก ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ ซึ่งมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ คือเป็นแนวทางการกำหนดทิศทางและบูรณาการแผนปฏิบัติการคุ้มครองเด็กสำหรับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ และเป็นกรอบอ้างอิงในการกำหนดเป้าหมาย เป้าประสงค์ การจัดสรรทรัพยากร กลไกการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผลร่วมกัน” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย