นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกได้กว่าร้อยละ 5.14 หรืออันดับที่ 3 ของการส่งออกโดยรวมของไทย และเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการค้าการเจียระไนพลอยและการผลิตเครื่องประดับที่มีความได้เปรียบและความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบที่หลากหลาย คุณภาพดีรวมถึงมีช่างฝีมือและทักษะที่สูงทั้งการเจียระไนและการผลิตเครื่องประดับ แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้หลังจากการเปิดAECประเทศไทยอาจประสบปัญหาการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานฝีมือที่มีศิลปวัฒนธรรมสูงเทียบเท่าประเทศไทยทำให้เกิดการถูกลอกเลียนแบบหรือสร้างสรรค์ชิ้นงานออกมาให้คล้ายคลึงกันแต่ได้เปรียบประเทศไทยด้านที่มีค่าจ้างแรงงานราคาถูกกว่า
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรมการอบรมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วยความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยจะเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำจากประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศผู้นำด้านการออกแบบอัญมณี โดยมีแบรนด์ชั้นนำระดับโลก อาทิ Bulgari, Buccellati เป็นต้น มาเป็นวิทยากรให้การฝึกอบรมในหัวข้อการออกแบบเครื่องประดับด้วยความคิดสร้างสรรค์อาทิ การใช้วัตถุดิบทดแทน ได้แก่ การใช้เงินหรือทองเหลืองแล้วชุบทองเพื่อสร้างความสวยงามแต่ราคาไม่แพง การฉลุลวดลายเพื่อลดปริมาณวัตถุดิบจำพวกโลหะมีค่า และการสร้างมูลค่าเพิ่มการใช้พลอยอ่อนหรือพลอยสังเคราะห์ หรือคริสตัลแทนพลอยแข็งที่มีราคาสูง เพื่อหลีกหนีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่เกิดจากการต้องนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนสูงมากตลอดจนการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสินค้าให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกทิศทาง
นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กสอ. ยังมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับให้นำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจของตนเอง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่กว่า 1 แสนรายให้สร้างการตลาดออนไลน์ (E-Marketing) เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และ การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายและกว้างมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดเฉพาะในประเทศเท่านั้น เมื่อนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงลูกค้าที่หลากหลายไปจนถึงตลาดต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม กสอ. ตั้งเป้าหมายสูงสุดให้ผู้ประกอบไทยสามารถสร้างและพัฒนาแบรนด์อัญมณีและเครื่องประดับMadeinThailandให้มีคุณภาพและเอกลักษณ์เทียบเท่าหรือมากกว่าประเทศผู้นำด้านการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับให้มีปริมาณมากขึ้นกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อยอดการส่งออกที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยตลอดปี 2557อยู่ที่ 3.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79จากปี 2556 ซึ่งนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 4 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.42 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย และสำหรับในปี 2558 (ไตรมาสแรก)ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่มีมูลค่าสูงสุด คือ ฮ่องกง ด้วยสัดส่วนร้อยละ 24.66 โดยสินค้าส่งออกรายสำคัญ ได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนขยายตัวร้อยละ 2.59, 16.83, 20.17 และ 81.82 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดกลุ่มอาเซียนไทยส่งออกไปยังสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 9.65 รองลงมา คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซียซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเติบโตร้อยละ 29.06 และ 28.47 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง โลหะเงิน และอัญมณีสังเคราะห์ เป็นต้น (ข้อมูลสถิติ: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)นายอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม โครงการต่าง ๆ ได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร 0 2202 4414 – 18 / เผยแพร่