ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมจัด "การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 8" (Robot Design Contest 2015, RDC 2015) รอบชิงชนะเลิศ ณ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทักษะความสามารถของเยาวชนไทยด้านการศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเฟ้นหาเยาวชนตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2015 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับธีมการแข่งขัน RDC2015 ในปีนี้ คือ "Rebuild the city: หุ่นยนต์สร้างเมือง" มีน้องๆนิสิตนักศึกษาสนใจสมัครเข้าร่วมมากถึง 169 คน จาก 29 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยจัดแข่งขันรอบคัดเลือกไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จนเหลือผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งสิ้น 82 คน แบ่งออกเป็น 14 ทีมๆ ละ 5-6 คน แบบคละสถาบันการศึกษา และผู้แข่งขันทั้งหมดได้เข้ารับการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หุ่นยนต์ทำงานเคลื่อนที่อัตโนมัติ เพื่อเป็นการต่อยอดนักศึกษาในการเรียนและประโยชน์กับการทำงานหรือประกอบอาชีพในโรงงานสมัยใหม่ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนการแข่งขันรอบสุดท้าย ซึ่งปรากฏว่ารางวัลทีมผู้ชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ "ทีมซอยล์"(Soil) ประกอบด้วย นายไม้ไฑ ดะห์ลัน จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพีรวิชช์ ศิริอุดมรัตน์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนคร, นายภาคภูมิ รุจิพรรณ ม.เชียงใหม่, น.ส.ศิรดา เติมวิเศษ ม.เกษตรศาสตร์, นายณัฐพล ยุบลเลิศ ม.ราชภัฎชัยภูมิ และนายอรรถพร กาไวย์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงการแข่งขันฯในครั้งนี้ว่า เอ็มเทคได้เปิดเวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 แล้ว เพื่อเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น ผู้เข้าแข่งขันจะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม และเรียนรู้การทำงานเป็นทีมตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะประโยชน์อย่างยิ่งในภายหน้าสำหรับการทำงานในวิชาชีพวิศวกร ซึ่งมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต
"สำหรับธีมในปีนี้ เราเลือกธีมการแข่งขัน "หุ่นยนต์สร้างเมือง: Rebuild the city" โดยได้แรงบันดาลใจจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ ที่ได้เกิดขึ้นมาบ่อยครั้งและสร้างความเสียหายในรอบปีที่ผ่านมา จึงคิดโจทย์ให้ผู้แข่งขันระดมทักษะความสามารถมาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถมีส่วนช่วยในการบูรณะตึกราม บ้านช่อง อาคารสูงตลอดจนโบราณสถานของชุมชมที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ"
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พงศ์แสน พิทักษ์วัชระ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎกติกาการแข่งขันในปีนี้ เราได้จำลองสนามแข่งขันเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โดยสมมุติให้กล่องเป็นตึกราม บ้านช่อง และผู้แข่งขันสร้างหุ่นและบังคับให้หุ่นสามารถเคลื่อนย้ายกล่องเพื่อสร้างเมือง โดยในปีนี้จะแตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ จะไม่นำหุ่นยนต์อัตโนมัติ irobot มาใช้ในการแข่งขัน เนื่องจากต้องการให้ผู้แข่งขันโฟกัสกับ "แขนกลอัตโนมัติ" และเพื่อเป็นการทดสอบการใช้แขนไว้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยจะเน้นการเคลื่อนย้ายกล่องจำนวนมากและลดความยากของพื้นผิวทางลง เน้นทางผิวเรียบและทางลาดชันให้น้อยลง ส่วนสิ่งที่ยากสำหรับผู้แข่งขันในปีนี้ น่าจะเป็นเรื่องความสูงของกล่องที่จะต้องบังคับหุ่นให้นำไปวางเรียงกัน
ด้านหนึ่งในสมาชิกทีมซอยล์ผู้ชนะเลิศปีนี้ นายไม้ไฑ ดะห์ลัน นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับหน้าที่คอนโทรลหุ่นยนต์ของทีมซอยล์ กล่าวด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มหลังจากตนและเพื่อนๆในทีมสามารถคว้าชัยได้สำเร็จว่า ดีใจและตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะสมาชิกในทีมมาจากต่างสถาบัน แต่โครงการนี้ก็มีการจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ทำให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ ส่วนเทคนิคที่ทำให้ทีมสามารถคว้าชัยในครั้งนี้ไปครองได้นั้นคิดว่าเป็นเพราะทีมได้สร้างหุ่นยนต์ให้มีความเร็วโดยใช้กระดาษฟิวเจอร์บอร์ดมาทำเป็นตัวจับกล่องให้สูงขึ้นเพื่อที่หุ่นยนต์จะได้จับกล่องได้ทีละ2ใบ ที่สำคัญความสามัคคีของเพื่อนๆในทีมและการซ้อมบ่อยๆเพื่อให้เรามีความชำนาญในการคอนโทรลหุ่นยนต์ให้ไปในทิศทางที่เราต้องการ ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เป็นแชมป์ในวันนี้
"สิ่งที่ได้รับกลับไปจากการแข่งขันในครั้งนี้ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนต่างสถาบัน ทำให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตามสุดท้ายเราก็คือเพื่อนกัน และอีกอย่างที่ได้เต็มๆคือสมาธิ เพราะระหว่างการแข่งขันมีความกดดันทุกอย่างทั้งจากทีมแข่งขัน และผู้ชม โดยเฉพาะช่วง 20วินาทีสุดท้ายก่อนหมดการแข่งขันจะยิ่งตื่นเต้นถ้าเราไม่สามารถควบคุมสมาธิได้ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ส่วนการเตรียมตัวไปแข่งระดับนานาชาติในเดือนกรกฎาคมนี้ การสร้างความมั่นใจและการช่วยเหลือให้กำลังใจกันเป็นสิ่งสำคัญเพราะผมและเพื่อนๆ จะเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะต้องคละทีมร่วมกับเพื่อนจากประเทศต่างๆ" นายไม้ไฑ กล่าว
สำหรับทีมชนะเลิศจากการแข่งขัน RDC2015 จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม "การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ หรือ IDC RoBoCon 2015" ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 20-31 กรกฎาคมนี้ โดยมีประเทศที่เข้าร่วม คือ บราซิล สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ โมร็อกโก และประเทศไทย ซึ่งในปี 2559 ถือเป็นความน่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ IDC RoBoCon 2016 อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit