ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะ รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ผงสีที่ปรากฎในคลิปวีดีโอ มีลักษณะเหมือนผงแป้งสีขาว ถูกฉีดออกมาจากทางด้านหน้าลานคอนเสิร์ตบริเวณเวที และฟุ้งกระจายไปทางทั่ว ถึงทางด้านหลังของเวที และเกิดเปลวไฟขึ้นบริเวณด้านหน้าก่อนลุกลามไปทั่วถึงบริเวณด้านหลัง ภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที แต่จะสังเกตว่าไฟที่ลุกติดจากผงสีที่ลอยในอากาศดับไปอย่างรวดเร็วเพราะสิ้นสุดการเผาไหม้ เหลือแต่ไฟที่ลุกติดบนพื้นดินจากเชื้อเพลิงอื่นๆ
ดร.วรวรงค์ กล่าวอีกว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเผาไหม้และลุกติดไฟได้ มีอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ 1.เชื้อเพลิง 2.ความร้อน 3.ออกซิเจน และ4.ปฏิกิริยาลูกโซ่ ซึ่งจะต้องทำงานพร้อมกันจึงจะเกิดการเผาไหม้และลุกติดไฟได้ จากในคลิปวิดีโอ เชื้อเพลิงคือ ผงสีที่ถูกฉีดออกมา เมื่อลอยอยู่ในอากาศมีออกซิเจนอยู่รอบๆ และเกิดความร้อนหรือประกายไฟขึ้น ก็จะสามารถลุกติดไฟได้ ซึ่งเปลวไฟจะเป็นสัญญาณที่แสดงถึงการติดไฟ ผงสีดังกล่าวลอยอยู่ใกล้กันมากจึงทำให้มีการส่งต่อความร้อนกันและกัน เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ แต่เมื่อผงสีซึ่งเป็นเชื้อเพลิงได้เผาไหม้ไปแล้ว และไม่มีอะไรในอากาศมารับช่วงตัว ก็จะทำให้ปฏิกิริยาลูกโซ่สิ้นสุดลง ทำให้ไม่มีเปลวไฟอีกต่อไป
"ลักษณะสำคัญของเชื้อเพลิง คือจะเป็นสารประกอบทางเคมีที่ประกอบด้วยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นที่เกิดขึ้นในธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้นมา ในกรณีนี้ผงแป้งก็อาจเป็นเชื้อเพลิงได้ ที่เราเห็นอยู่ตามบ้านคือ แป้งมัน หากเราโยนฝุ่นแป้งมันเข้าเปลวไฟ ก็จะเกิดการลุกไหม้เป็นเปลวขนาดใหญ่ได้ จึงต้องระวังหากจะทดลองที่บ้าน ซึ่งแป้งมันเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอนที่เป็นเชื้อเพลิงได้ ผงสีที่อาจใช้ในงานก็คงจะเป็นสารประเภทเดียวกัน เพราะคงต้องไม่เป็นสิ่งที่อันตรายเมื่อสัมผัสกับร่างกายคน แต่หากสูดดมในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้มีอีกตัวอย่างคือสีโฮลี ที่เป็นผงสีที่เราเห็นกันในเทศกาลฉลองการสิ้นสุดปีเก่าในประเทศอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียจะใช้สาดกันเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สีนี้เป็นสีธรรมชาติที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว บีทรูท ขมิ้น แต่เหตุการณ์นั้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายอาจเป็นด้วยปริมาณของสีอาจไม่มากนัก หรือความร้อนไม่สูงพอ หรืออาจมีความชื้นในสีพอสมควร" รองโฆษก วท. กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความร้อนโดยทั่วไปที่ต่ำที่สุดที่จะทำให้ติดไฟได้จะต้องมากกว่า400 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ซึ่งหากไฟจากสปอร์ตไลท์ส่องมาที่เรา แล้วเรายังทนอยู่ได้ ความร้อนตรงนั้นก็ไม่น่าจะถึง 400 องศาเซลเซียส ในกรณีที่มีการเป่าผงสีขึ้นกลางอากาศ เกิดการลอยฟุ้งอยู่แล้วมีข้อสันนิษฐานว่าผงสีจะติดไฟจากไฟสปอตไลท์ คงไม่ใช่ เพราะความร้อนที่สะสมในผงสีอันเนื่องมาจากสปอตไลท์ของไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการติดไฟ ส่วนเสียงที่ดังคงไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความร้อนได้เลย คงต้องรอผลการสอบสวนที่ชัดเจน จึงสามารถระบุสาเหตุได้ ดร.วรวรงค์ กล่าวและว่า สิ่งที่ต้องระวังมากๆ ในการจัดงานประเภทนี้คือคงจะต้องมีผู้ที่เชี่ยวชาญจริงๆ ในการควบคุมแอฟเฟคต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้การทดลองทดสอบ หรือการซ้อมคิว คงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เราอาจต้องระวังเป็นพิเศษ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit