อีไอซีคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2015 ไว้ที่ 3%

02 Jul 2015
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามที่ได้ประเมินไว้ รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ การส่งออกที่หดตัวถึง 4.2% ในช่วง 5 เดือนแรก รวมถึงการลงทุนของรัฐที่ยังล่าช้าในการเบิกจ่าย สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง อีไอซีคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้าง โดยการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีรายได้มากขึ้นในรูปของเงินบาทไม่ว่ายอดขายในรูปสกุลเงินต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งน่าจะช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการและช่วยพยุงรายได้ของแรงงานได้เช่นกัน นอกจากนี้ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 28.8 ล้านคนในปีนี้ และการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือนกันยายนนี้ จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ด้านรายได้ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยรวมแล้ว อีไอซีประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2015 จะขยายตัว 1.4% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.5% ส่วนการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 1.5%

ปัจจัยภายในประเทศเป็นความเสี่ยงหลักที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าคาดการณ์ ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน ในส่วนแรกนั้นภาคการเกษตรกำลังเผชิญกับภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเพาะปลูกในช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาระบบชลประทาน ในส่วนที่สองคือภาคการท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส MERS ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคของภาครัฐ นอกจากความเสี่ยงหลักแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเนื่องคือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายภาครัฐซ้ำอีก จนทำให้มีการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนออกไป ดังนั้น อีไอซีคาดว่าภาครัฐคงต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาภัยแล้ง และยังคงมองว่ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งไปอยู่ที่ 1.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าประเทศไทยไม่ได้ประสบปัญหาภาวะเงินฝืด หรือติดกับดักสภาพคล่อง (liquidity trap) แต่อย่างใด

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่บ้างเช่นกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างญี่ปุ่นและยุโรโซนยังมีความเปราะบาง อีกทั้งตลาดเงินตราต่างประเทศและตลาดพันธบัตรมีความผันผวนเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากความกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้หรืออาจต้องหลุดจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ซึ่งจะมีผลกระทบกับตลาดเกิดใหม่เป็นอย่างมาก สำหรับประเทศไทย การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ คงไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินมากนัก เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยปัจจัยเหล่านี้รวมไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit