ดังนั้น จึงขอความร่วมมือชาวประมง ผู้ประกอบการประมงให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเรือ ขออนุญาตการทำประมงโดยใช้เครื่องมือทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีคนเรือที่มีใบอนุญาตแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีครบทั้งสามส่วนนี้แล้วก็สามารถออกไปทำการประมงได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนก็สามารถไปยังให้บริการแบบ one stop service ได้ถึงวันที่ 15 ก.ค.นี้ หลังจากนี้ก็ยังสามารถติดต่อกับกรมเจ้าท่าและกรมประมงได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้
"รัฐบาลไม่มีความตั้งใจจะทำร้ายใคร รัฐบาลก็อยากให้ขายของให้ได้ แต่ขอใช้โอกาสนี้ปรับระบบการทำประมงของประเทศ ให้สัดส่วนการจับและทรัพยากรสัตว์น้ำเกิดความสมดุล วันนี้เราต้องมาดูต้องทำอย่างไรต่อไป ดูว่าเรือที่ถูกกฎหมายมีเท่าไหร่และไม่ถูกกฎหมายมมีอยู่เท่าไหร่ให้เกิดความชัดเจนให้ได้ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาแก้ไขปัญหา รวมถึงวางมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบได้" นายปีติพงศ์กล่าว
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของผลกระทบที่เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีใบอาชญาบัตรและแรงงานไม่ถูกต้อง ซึ่งจะไม่สามารถออกไปทำการประมงได้นั้น กระทรวงเกษตรฯ จะมีการติดตามประเมินผลกระทบที่ชัดเจน แต่ในเบื้องต้นส่วนของอาหารทะเลหรือสัตว์น้ำในการบริโภคบางประเภท เช่น กุ้ง ปู ปลากะพง จะไม่กระทบมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงไม่ได้มาจากทะเล แต่ส่วนที่จะส่งผลกระทบจริงๆ มี 3 ส่วน คือ 1.แพปลา 2. โรงน้ำแข็ง และ 3. โรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งวัตถุดิบจะเป็นปลาตัวเล็ก แต่ขณะนี้ทางผู้ปรำกอบการก็พยายามปรับตัวหันไปนำเข้าปลาจากแหล่งอื่นทดแทน