ทช.เดินหน้าแก้ปัญหาสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เตรียมผลักดัน “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนคุ้มครองชนิดที่ 16

01 Jul 2015
ทช.ประกาศเจตนารมย์ตามพรบ.ทช.กำหนดเขตคุ้มครองและชนิดสัตว์ทะเลหายาก เน้นความปลอดภัยของสัตว์และการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก เตรียมเสนอ "วาฬบรูด้า" เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ในรายชื่อสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่อพิจารณาใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มั่นใจในมาตรการรองรับจะสามารถช่วยอนุรักษ์สัตว์ทะเลยากได้อย่างยั่งยืน
ทช.เดินหน้าแก้ปัญหาสัตว์ทะเลหายากเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เตรียมผลักดัน “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนคุ้มครองชนิดที่ 16

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีผู้พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมา ทั้งที่บาดเจ็บ เกยตื้นตายตามชายหาด หรือติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยรอบ 12 ปี (พ.ศ.2546 - 2557) พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 2,201 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 1,209 ตัว โลมาและวาฬ 851 ตัว และพะยูน 141 ตัว โดยในแต่ละปีมีแนวโน้มของการบาดเจ็บและเกยตื้นตายเพิ่มสูงขึ้น จึงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้กำหนดบทบาทให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สามารถประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ โดยต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ ดูแล และช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากแล้ว ยังสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่มีอยู่ในท้องถิ่นอีกด้วย

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวต่อไปว่า การคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์นั้น ทช. ให้ความสำคัญกับการ มีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งด้านวิชาการและภาคประชาชน โดยในส่วนของเครือข่ายด้านวิชาการจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางวิชาการ ด้านแหล่งการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลหายากแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น เพราะกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสพบเหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน ด้วยการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นอย่างถูกต้องก่อนประสานแจ้งเหตุมายังหน่วยงานของ ทช. ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้น

"สำหรับ "วาฬ" ถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากที่ ทช. รับผิดชอบ ดูแล และอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ ทช. เตรียมเสนอให้ "วาฬบรูด้า" เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งถือเป็นสัตว์ทะเลตัวที่ 2 ต่อจากพะยูนที่จะได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวน ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับความสำคัญของวาฬบรูด้าแล้ว ยังช่วยผลักดันให้การอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม" นายชลธิศกล่าว

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit