กระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น

01 Jul 2015
นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการปฏิบัติการฝนหลวง ณ เขื่อนลำตะคอง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ในการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ รวมถึงเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้ขึ้นบินสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ พร้อมพบปะเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งและอาสาสมัครฝนหลวงในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างการรับรู้ และร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความผันแปรของภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติและยังมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่การเกษตรขาดแคลนน้ำเป็นบริเวณกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีแผนการปฏิบัติการช่วยเหลือ ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี และหน่วยเติมสารฝนหลวงขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

นายสมปอง กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบินร่วมปฏิบัติการจำนวน 6 ลำ เป็นเครื่องบินเกษตร จำนวน 2 ลำ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 498 เที่ยวบิน สารฝนหลวงที่ใช้ จำนวน 528.70 ตัน ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอเป็นการเร่งด่วนในเขต อ.ปากช่อง และ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มน้ำให้กับเขื่อนสำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มีแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปัจจุบันเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำ 80.458 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25.58 จากความจุปกติที่ 314.49 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. จึงต้องมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประปา การรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เพื่อให้เพียงพอในช่วงน้ำแล้งนี้