ก.เกษตรฯ แจงคืบหน้าโครงการสร้างรายได้ฯ บรรเทาภัยแล้ง แก้ปัญหาตรงจุด เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชน สร้างรายได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

01 Jul 2015
นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ว่า มีการรายงานความคืบหน้าของโครงการฯ ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยศบกต. ได้เบิกจ่ายงบประมาณให้กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว 3,002 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.92 และในขั้นตอนการเบิกจ่ายของกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ดำเนินการโครงการฯ มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 2,783 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.64 ส่วนโครงการของชุมชนที่เบิกจ่ายงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 5,425 โครงการ (จาก 6,598 โครงการ) คิดเป็นร้อยละ 82.22 และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,173 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.78 ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการฯ นี้ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ใช้แรงงานไปแล้วจำนวน 917,566 ราย และครัวเรือนเกษตรกรได้รับประโยชน์ 2,435,030 ครัวเรือน

นายสมปอง กล่าวเพิ่มเติมว่า "มีบางโครงการที่ต้องมีการเสนอเข้า ครม.เพื่อขอขยายระยะเวลา เนื่องจากเดิมมีกำหนดระยะเวลาในการสิ้นสุดโครงการคือ 30 มิ.ย. 58 แต่มีปัจจัยด้านสภาพอากาศทำให้บางโครงการไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทันเวลา จึงจะขอยืดเวลาการดำเนินโครงการออกไปจนถึงสิ้นเดือนส.ค.นี้ ด้านการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือน ก.ย. 58 เบื้องต้นได้มีการเก็บข้อมูลในการประเมินผล โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์คือ ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดโครงการจากความต้องการของตนเอง ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบจากสิ่งก่อสร้างหรืออื่นๆ โดยตรง และเป็นสร้างรายได้แก่ชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้คณะกรรมการได้มีการลงพื้นที่ไปตรวจโครงการที่แล้วเสร็จใน จ.น่าน ซึ่งมีการเสนอโครงการสร้างฝายชะลอน้ำ พบว่าประสบผลสำเร็จและสร้างประโยชน์แก่คนในชุมชนได้จริง และบางโครงการที่เกี่ยวกับการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการผลิตปุ๋ย มี 1,305 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถผลิตปุ๋ยได้ถึง 70,000 ตัน ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต และนำไปขายสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย"

อย่างไรก็ตาม มีจังหวัดที่ดำเนินกิจกรรมโครงการฯ และเบิกจ่ายงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว 17 จังหวัด (จาก 58 จังหวัด) ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สตูล นครสวรรค์ ตาก พิจิตร มหาสารคาม หนองบัวลำภู สุโขทัย บึงกาฬ พะเยา อุทัยธานี ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ