เบรีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อความเข้มแข็งในการผลิตข้าวในภูมิภาค

01 Jul 2015
สำนักเลขาธิการ เบรีย ภูมิภาค เมื่อเร็วๆ นี้ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภูมิภาค เพื่อการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) ในภาคการเพาะปลูกข้าว และแลกเปลี่ยนบทเรียนการเสริมสร้างศักยภาพ ในบริบทของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships หรือ PPP) เพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ใน 4 ประเทศ ที่ เบรีย มีการดำเนินการอยู่ ขึ้นที่ โรงแรม 'อิน เรสซิเดนซ์' กรุงเทพมหานคร
เบรีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อความเข้มแข็งในการผลิตข้าวในภูมิภาค

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ให้คำจำกัดความ การพัฒนาศักยภาพ ว่าเป็น กระบวนการของการเสริมสร้างความสามารถของบุคคล องค์กร และสังคม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในการบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนตามโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กระบวนการพัฒนาศักยภาพ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของพันธมิตร และสร้างฉันทามติ การประเมินความต้องการและความสามารถในการพัฒนาศักยภาพ การกำหนดกลยุทธ์ การดำเนินการตามกลยุทธ์ และการตรวจสอบและประเมินผลกลยุทธ์

ปัจจัยความสำเร็จ ตามระบบการบริหารงานด้านการพัฒนาศักยภาพของ GIZ (GIZ Capacity WORKS) ประกอบด้วย การวางแนวทางเชิงกลยุทธ์ ความร่วมมือระหว่างบุคลากรและองค์กรที่จะอำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างที่ดีที่สุดสำหรับกระบวนการนวัตกรรมทางสังคม และการเรียนรู้และความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

นาย บรูซ มิลลิแกน ผู้จัดการภูมิภาค การพัฒนาอย่างยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ หน่วยงาน อารักขาพืช ภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีเอเอสเอฟ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพสำหรับ เบรีย พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำกิจกรรมเพื่อประชาชนของบริษัทฯ วิธีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บทเรียนที่มีประโยชน์ และแนะนำว่า การที่จะเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรยอมรับคำแนะนำ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม คำแนะนำดังกล่าวควรที่จะเข้าใจได้ง่ายและมีเนื้อหาในทางสร้างสรรค์ ให้ประโยชน์ บอกถึงเหตุผลที่เกษตรกรควรจะปฏิบัติตาม และสนองตอบทาง 'อารมณ์' ต่อสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ

เบรีย เป็นโครงการ PPP ซึ่งเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ระหว่างองค์กรภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ความรู้ และความเสี่ยง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ในการสร้างและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ตามคำจำกัดความของ สถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารนานาชาติ หรือ International Food Policy Research Institute (IFPRI)

ในประเทศไทย GIZ ดำเนินโครงการ BRIA โดยความร่วมมือกับกรมการข้าวซึ่งเป็นพันธมิตรภาครัฐ และ บีเอเอสเอฟ และ ไบเออร์ ครอปซายน์ ซึ่งเป็นพันธมิตรภาคเอกชน นอกจากตัวแทนจากพันธมิตรภาครัฐและเอกชน และ เบรีย ประเทศไทยแล้ว ตัวแทนจาก เบรีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้นำเสนอกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพในประเทศของตน ในบริบทของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย

โครงการความร่วมมือในลักษณะ PPP จะเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืน เนื่องจากภาครัฐสามารถพัฒนานโยบาย สร้างกรอบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินการ ระบบแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในภาคที่ต้องการ ตั้งกฎระเบียบและการบังคับใช้ ในขณะที่ภาคเอกชน มีความรู้ และความชำนาญ การลงทุน ความร่วมมือ และการปฏิบัติตามกรอบการบริหาร การวิจัยและพัฒนา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคม

ดร. มาร์ติน แมร์เคิล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ไบเออร์ ครอปซายน์ เอจี ประเทศเยอรมัน นำเสนอ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจากมุมมองของภาคเอกชน นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในด้านทรัพยากร บุคลากร และการสนับสนุนทางการเงิน ภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความซับซ้อนของภาครัฐ เช่นการอนุมัติเรื่องทรัพยากร โครงสร้างในการตัดสินใจ ในขณะที่ภาครัฐ จำเป็นต้องตระหนักถึงและเข้าใจผลประโยชน์ทางธุรกิจของภาคเอกชน การกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ร่วมกัน จำเป็นต้องมีความชัดเจน และการดำเนินโครงการ สำหรับเขาแล้ว เป็นส่วนที่ 'ท้าทาย' ไบเออร์ มีเป้าหมาย เพื่อความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม

ดร. มาร์ติน เน้นความสำคัญของการสร้างศักยภาพ ในภาคการเพาะปลูกข้าว โดยให้เหตุผลว่า ข้าวเป็นอาหารที่ป้อนประชากรโลก 3 พันล้านคน และความต้องการข้าวจะเติบโต 30% ในปี 2573 ข้าวปลูกบนพื้นที่ 160 ล้าน เฮกตาร์ (90% ในเอเชีย) โดย เกษตรกรรายย่อย 144 ล้านคน ใช้น้ำจืด 30% ของโลก ความต้องการข้าว การขาดแคลนแรงงาน การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ช่องว่างด้านเทคโนโลยี และนโยบายสาธารณะ จะขับเคลื่อนการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น

เบรีย จะใช้ผลของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่จัดขึ้นในสองวัน เพื่อร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมความเข้มแข็งในภาคการผลิตข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป