นายเทียนธันย์ ณีศะนันท์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาองค์กรและบุคลากร สปริง โปรเฟสชันแนล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การบริหารและพัฒนาบุคลากรให้เป็นคนเก่ง (Talent) นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังขาดแรงงานในส่วนของงานด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ทั้งในระดับทั่วไปจนถึงผู้บริหารระดับกลาง
"องค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาการบุคลากรด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ให้มีความสามารถในระดับสากล โดยการใช้ประโยชน์จากบุคลากรต่างชาติที่มีความสามารถทางด้านนี้ให้เข้ามาช่วยอบรมพนักงานท้องถิ่นขององค์กร หรือจากการโยกย้ายตำแหน่งหมุนเวียนกันไปภายในภูมิภาคของผู้บริหารระดับต้น"
นางสุนทรี ลิ้มมานนท์ กรรมการผู้จัดการ สปริง โปรเฟสชันแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากความต้องการในด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการเก็บข้อมูลสำคัญที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับต่อความต้องการและความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้เทคโนโลยีเกี่ยวกับโลจิสติกส์ที่จะต้องมีการปรับตัว ขณะที่บริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ควรพิจารณาในภาพรวม ทั้งในด้านผู้เชี่ยวชาญซัพพลายเชน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล ซึ่งการได้บุคลากรที่มีความชำนาญโดยเฉพาะดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาศักยภาพในด้านการค้าปลีกในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ไทยกำลังเร่งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ รองรับการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งจะมีการหลั่งไหลอย่างเสรีของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจภาคการผลิต ตลอดจนตลาดต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการรวมตัวเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก
โดยมีการคาดการณ์ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจะมีการเติบโตอย่างสูง ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 - 2568 ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ด้านโลจิสติกส์เร่งพัฒนาหน่วยงานสำหรับอีคอมเมิร์ซโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์สำหรับการค้าปลีกในช่องทางที่หลากหลายเพิ่มขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ในอนาคต ล่าสุด มีการจ้างงานกว่า 6.62 ล้านตำแหน่งในภาคการผลิตและ 1.1ล้านตำแหน่งในธุรกิจโลจิสติกส์ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์สูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) ที่มุ่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์มากกว่า 7,500 ตำแหน่งในปี 2559 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามภารกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit