ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การประกาศวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ หรือ“ฤดูน้ำแดง” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ ด้วยการประกาศห้ามใช้เครื่องมือประมงประสิทธิภาพสูงหรือวิธีใดๆ ทำการประมงในแหล่งน้ำจืด เพื่อเป็นการสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่กำลังมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อนไว้ไม่ให้ถูกทำลายจนเกินควร กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงฯตามความในมาตรา 32 (1) (2) (4) (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 เรื่อง กำหนดฤดูปลามีไข่และกำหนดชนิด ขนาด และวิธีใช้เครื่องมือทำการประมง ลงวันที่ 17 เมษายน 2507 เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่กำลังมีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกไว้ไม่ให้ถูกทำลายเกินสมควร โดยมีข้อกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 กันยายน ของทุกปีเป็นฤดูปลามีไข่ในเขตพื้นที่น้ำจืดในทุกจังหวัด และในช่วงดังกล่าวนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมง หรือด้วยวิธีใดๆ ในที่จับสัตว์น้ำจืดในท้องที่ทุกจังหวัดเด็ดขาด โดยยกเว้นทำการประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือรวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยงซึ่งจะต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงก่อน ซึ่งในประกาศฉบับนี้ได้ยกเว้นเครื่องมือประมงบางประเภทสำหรับเครื่องมือยกเว้นให้ทำการประมงได้ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่
(1) เบ็ดทุกชนิด เว้นแต่เบ็ดราว
(2) ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร
(3) ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง
และเนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทยในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต่อการเอื้อต่อการวางไข่และเลี้ยงตัววัยอ่อนของสัตว์น้ำก็ย่อมที่จะแตกต่างกันด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเห็นชอบให้ 10 จังหวัดของประเทศกำหนดฤดูปลาน้ำจืดมีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกเป็นการเฉพาะ ดังนี้
(1) จังหวัดนครนายก ระหว่าง วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม ของทุกปี
(2) จังหวัดพังงา ระหว่าง วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม ของทุกปี
(3) จังหวัดลำปาง ระหว่าง วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี
(4) จังหวัดลำพูน ระหว่าง วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี
(5) จังหวัดนครราชสีมา ระหว่าง วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี
(6) จังหวัดหนองบัวลำภู ระหว่าง วันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม ของทุกปี
(7) จังหวัดอุดรธานี ระหว่าง วันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม ของทุกปี
(8) จังหวัดขอนแก่น ระหว่าง วันที่ 16 มิถุนายน – 15 ตุลาคม ของทุกปี
(9) จังหวัดนราธิวาส ระหว่าง วันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม ของทุกปี
(10) จังหวัดพัทลุง ระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม – 31 มกราคม ของทุกปี
บทกำหนดโทษ หากมีผู้ฝ่าฝืนตามประกาศดังกล่าวนี้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ห้าพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับในปีนี้ กรมประมงได้กำหนดจัดงานวันคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ณ บริเวณท่าน้ำมูลเหล็ก อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจในมาตรการดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มชาวประมงและประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นการสร้างจิตสำนึกถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ให้มีใช้อย่างยั่งยืนต่อไป ท้ายนี้กรมประมงขอเชิญพี่น้องประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว โดยทางกรมประมงได้จัดเตรียมนิทรรศการให้ความรู้ไว้มากมาย รวมถึงพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้เตรียมไว้ให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันปล่อยเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit