จากปากคำครูด้ามขวาน “สานฝันกีฬา สู่แดนใต้” สร้างความสามัคคีได้จริง ไม่ใช่เพียงฝัน

08 May 2015
มหกรรมแข่งขันกีฬาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน 2557” ภายใต้โครงการ “สานฝันการกีฬา สู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยมี พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในพิธีปิด และ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เป็นผู้กล่าวรายงาน สาระสำคัญของมหกรรมแข่งขันกีฬาในครั้งนี้นั้น นอกจากผลการแพ้-ชนะแล้ว ยังทำให้เด็กๆได้เรียนรู้โดยภาคปฏิบัติในการรู้รักสามัคคีและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
จากปากคำครูด้ามขวาน “สานฝันกีฬา สู่แดนใต้” สร้างความสามัคคีได้จริง ไม่ใช่เพียงฝัน

ทว่าในความคิดของครูในพื้นที่ มันส่งผลกว้างกว่านั้นมาก, ครูมูฮำมัดซอบรี เจะสะนิ ตำแหน่งครู คศ2 โรงเรียนบ้านตะโละไกรทอง จังหวัดปัตตานี ผู้รั้งตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตซอล ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุ 15 ปี ในงานนี้ กล่าวว่า การพัฒนาเด็กในแต่ละประเทศมีแนวคิดที่สอดคล้องกัน คืออยากให้เด็กได้อะไร ต้องนำสิ่งนั้นไปนำเสนอผ่านสิ่งที่เขาชอบ อย่างที่ประเทศอินโดนีเซีย เด็กชอบหนังตะลุง ก็สอนผ่านหนังตะลุง, ญี่ปุ่น เด็กชอบการ์ตูน ก็สอนสิ่งต่างๆผ่านการ์ตูน ส่วนถ้าจะสอนเรื่องคุณธรรมให้กับเด็กไทย ก็ควรสอนผ่านการเล่นกีฬาเพราะเด็กๆชอบ และจากประสบการณ์ที่ฟูมฟักทีมนี้มากว่า 5 ปีได้รางวัลระดับจังหวัดมาแล้วหลายครั้ง ครูมูฮำมัดซอบรียืนยันว่า มันเห็นผลได้ในเชิงรูปธรรมอย่างแท้จริง ทั้งในแง่ของตัวเด็กเอง ครอบครัว และชุมชน

“เด็กที่นี่ไม่เหมือนเด็กในเมืองที่เลิกเรียนแล้วจะไปเรียนพิเศษกัน เพราะฉะนั้นเขาจะมีเวลาว่างหลังเลิกเรียน แล้วถ้าไม่มีกิจกรรมให้เขา เขาก็อาจจะไปหาสิ่งที่ไม่ดีหรือว่ายาเสพติดได้ เพราะเริ่มเป็นวัยรุ่น เป็นวัยที่เรียกร้องความสนใจ อยากมีกลุ่ม เราก็เลยใช้โอกาสตรงนี้สร้างกลุ่มให้กับเขา ทำให้กลุ่มของเขามีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และพยายามส่งเสริม หาเวทีให้เขาได้แข่งในทุกๆระดับ แรกๆไม่ได้หวังรางวัล แค่อยากให้เด็กๆได้มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง เรามองในระยะยาว ”

ครูเล่าว่าการสร้างทีมกีฬานั้นไม่ง่าย เพราะนอกจากจะต้องวุ่นวายกับฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านของเด็กๆแล้ว ยังต้องเสี่ยงกับผู้ไม่หวังดีอีกด้วย

“ผมบรรจุมา 10 ปี ตอนที่ได้บรรจุผมกางโปรเจ็คเลยว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ผมอยากเห็นชุมชนนี้เป็นแบบไหน คุยกับผู้ปกครอง และลูกศิษย์ ปลูกฝังตลอด เรื่องส่วนรวมของชุมชนเรา เราต้องช่วยเหลือกัน ถ้าเราไม่ช่วย แล้วหมู่บ้านเราเองจะให้ใครมาช่วย เรา ต้องมีความสามัคคี แล้วก็ต้องมีคุณธธรม มีน้ำใจเป็นนักกีฬาด้วย ผมสร้างแบบเอาไว้ว่า เมื่อเด็กโตขึ้นไป ก็ต้องกลับดูแลน้องไม่ใช่ว่าหายไปเลย ไม่ว่าจะเป็นตอนแข่งขัน ตอนซ้อม หรือตอนทำกิจกรรมอื่นๆของชุมชน อย่างในมัสยิส เป็นต้น คุณมีประสบการณ์แล้วต้องมาช่วยกันดูแล มาช่วยกันปั้นเด็กๆขึ้นมา เป็นระบบทีละรุ่น อย่างในวันนี้ก็มีรุ่นพี่มาด้วย เด็กๆผมช่วยเหลือกิจกรรมกันดีทุกคนแรกๆก็มีคนไม่เห็นด้วย และมีกลุ่มคนที่พยายามดึงให้เด็กเสีย เราก็พยายามดึงกลับ เหมือนชักกะเย่อ บางครั้งก็มีคนถือไม้หน้าสามมาหาที่โรงเรียนเลย แต่ด้วยความที่ว่าเราอดทนและมีความตั้งใจ พอทำนานเข้ามันจะเห็นผล กลุ่มคนไม่เห็นด้วยก็เริ่มลด ผมมองระยะยาวว่า แรกๆคนอาจจะส่งเสริมเราน้อย แต่เราเริ่มจากตัวเด็กในวันนี้ สักวันก็ต้องโต ฐานเราก็จะโตขึ้นตาม เด็กบางคนที่เริ่มเกเรผมจะไม่ปล่อย เรียกคุย ซักถาม ปรับตัวได้ไหม เอามาเป็นทีมของเราให้มากที่สุด เราทำทีมปีละ 10 คน 10 ปี เราก็ได้ ร้อยคนแล้ว ฐานเราก็จะแข็งแรงขึ้น แล้วรุ่นนี้ก็ต้องสร้างน้องต่อไป

เหนื่อยนะ แต่ว่าภูมิใจ ถ้าเราเหนื่อยแล้วชุมชนประสบความสำเร็จเราก็ยอมเหนื่อย แต่ถ้าเรากลัวเหนื่อยแล้วไม่ยอมทำอะไรเลย แล้ววันหนึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา เราจะเหนื่อยมากกว่านี้ทั้งกายและใจ”“ณ วันนี้เป็นจุดหนึ่งที่บอกเราว่า ถ้าเราพยายามมีความตั้งใจ การกีฬา และ การรวมตัวกันใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของนักเรียนและผู้คนในชุมชนประสบความสำเร็จได้ครับ” ครูมูฮำมัดซอบรีกล่าวทิ้งท้าย

จากปากคำครูด้ามขวาน “สานฝันกีฬา สู่แดนใต้” สร้างความสามัคคีได้จริง ไม่ใช่เพียงฝัน จากปากคำครูด้ามขวาน “สานฝันกีฬา สู่แดนใต้” สร้างความสามัคคีได้จริง ไม่ใช่เพียงฝัน