นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลย่านธุรกิจแฟชั่นไทยร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) เพื่อเป็นข้อมูลในการค้นหาแหล่งวัตถุดิบ/วัสดุแฟชั่น และแหล่งธุรกิจจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์แฟชั่นประเภทต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลด้านสินค้าและบริการ รวมทั้งวัตถุดิบและวัสดุตกแต่ง (Accessory) ที่จะนำไปสู่การผลักดันเครือข่ายธุรกิจย่านแฟชั่นให้เป็นที่รู้จักและยอมรับแก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวและผู้นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าแฟชั่นจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเหล่าดีไซเนอร์ในการเลือกหาวัตถุดิบที่ตอบโจทย์แนวคิดงานออกแบบได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลสำคัญแก่ภาครัฐในการเผยแพร่สู่สาธารณะทั้งนี้ข้อมูลที่จะมาทำเป็นฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมแฟชั่นจะนำร่องมาจากโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย เพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในสาขาอุตสาหกรรมแฟชั่นในกิจกรรมสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยพัฒนา 5 ย่านแฟชั่น ได้แก่ ย่านผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ย่านแฟชั่นมุสลิม มีนบุรี ย่าน Terminal21 อโศก ย่านตลาดนัดจตุจัตร กรุงเทพฯ และย่านสำเพ็ง กรุงเทพฯ
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่าจากการดำเนินกิจกรรมสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่นในการพัฒนา 5 ย่านแฟชั่น ดังกล่าวในปี 2557 ที่ผ่านมาทาง กสอ. ได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าร่วมกัน ระหว่างสมาชิกในเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นโดยปีนี้ได้เครือข่ายการค้าเพิ่มอีก 1 ย่าน คือ เครือข่ายผู้ประกอบการสยามสแควร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของวัยรุ่น อีกทั้งในปี 2558 ยังจะมีการต่อยอดสร้างภาพลักษณ์และชูจุดแข็งของย่านการค้าต่างๆ ผ่านกิจกรรมTFN2015 (Thai Fashion Network 2015) นอกจากนั้นผลิตเป็นสินค้าลิมิเต็ดอิดิชั่นที่ผลิตร่วมกันระหว่างสมาชิกแต่ละเครือข่ายออกจำหน่าย อีกทั้งยังมีการนำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มาใช้ในการทำการตลาด เช่น เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม เป็นช่องทางในการสื่อสารกับผู้บริโภค โดยรายละเอียดของอัตลักษณ์ของทั้ง5 ย่าน คือ
· ไหมปักปิ๊งเด้อเกิดการรวมตัวสมาชิกเครือข่ายสมาคมไหมไทยนครราชสีมาจำนวน 21 กิจการที่มี อัตลักษณ์เครือข่ายเป็นแมวสีสวาด หรือ แมวโคราชซึ่งมีแห่งเดียวในโลก ด้วยลักษณะโดดเด่นของสี และความเงางามของขน ประกอบกับบุคลิกอันปราดเปรียว งานแฟชั่นจึงออกมาในคอนเซปต์ชุดสีสวาด เรียบหรูแต่ปราดเปรียว
· ฮาร์ทคราฟท์(HeartCraft)เป็นการรวมตัวสมาชิกเครือข่ายกลุ่มเสื้อผ้ามุสลิม มีนบุรีจำนวน20 กิจการที่มีอัตลักษณ์เครือข่ายมาจากแนวคิด “สร้างด้วยใจ สร้างสรรค์จาก2 มือ” คือการทักทอชิ้นงานด้วยใจรัก และความสามัคคีของชาวมุสลิมซึ่งมีแผนในการกระจายผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนา ไปยังร้านของกลุ่มเครือข่าย พร้อมจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้า ณ ธัญญะ ช้อปปิ้ง พาร์คโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคณะทัวร์ชาวต่างชาติจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย
· เทอร์มินัล 21 (Terminal21)เป็นการรวมตัวสมาชิกเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการศูนย์การค้าเทอมินัล 21 จำนวน 15 กิจการ ซึ่งล้วนแต่เป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีหน้าร้านในศูนย์การค้าฯ โดยมีอัตลักษณ์ในการสร้างสรรค์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ ที่มีความล้ำนำเทรนด์และมีความเป็นตัวเองสูงในแบบฉบับศตวรรษที่ 21
· จตุจักร ซีรี่ย์เกิดการรวมตัวสมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการ ตลาดนัดจตุจักรอัตลักษณ์ของเครือข่าย คือ สัตว์ต่างๆ อาทิ สุนัข แมว ม้าลาย ซึ่งสะท้อนความเป็นจตุจัตร นักท่องเที่ยวที่มาช็อปปิ้งที่ตลาดนัดสวนจตุจักร จะนึกถึงสถานจำหน่ายสัตว์หลากหลายชนิด แนวคิดผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายจึงนึกถึงความเป็นจังเกิ้ล ออนสเตต (Jungle on state)มีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 15 กิจการซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตและขายสินค้าแฟชั่นหลากสไตล์ ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ ที่มาช่วยกันรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกันบนความแตกต่างในความเหมือน ในรูปแบบของสินค้าแฮนด์เมด (Hand made)ที่มีการผลิตเองและขายเอง ภายใต้แบรนด์สินค้า “เจเจ ซีรีย์”
· สำเพ็ง กรุ๊ป เครือข่ายสมาคมพ่อค้าผ้าไทยสำเพ็งเป็นต้นทางแห่งวัตถุดิบต่าง ๆ ของธุรกิจแฟชั่น ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน แขก และญี่ปุ่น ซึ่งสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความเป็นเรทโทร (Retro) ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกเข้าร่วม จำนวน 15 กิจการ
สำหรับปี 2558 จะขยายกิจกรรมการพัฒนาเครือข่ายทั้ง 5 ย่าน และพัฒนาเพิ่มเติมเครือข่ายย่านการค้าใหม่อีก 1 เครือข่ายการค้าใหม่อีก 1 เครือข่ายในพื้นที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์ ซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีชื่อเสียงและ เป็นที่รับรู้มาอย่างยาวนานในฐานะย่านการค้าแฟชั่นที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น สามารถติดตามและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0 2202 4581หรือติดตามโครงการอื่นๆของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit