นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทยโดยในปี 2558 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดให้ วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2558 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคลภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2558 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2558 นี้ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน จะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสด ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขั้นไป สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวฑิฆัมพร สุทธิฤทธิ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมการข้าว และนางสาวจารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และว่าที่ร้อยตรีหญิงณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมชลประทาน
สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอบไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคเลิศ ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูน
ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธีฯ ซึ่งผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2558 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,695 กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 8 พันธุ์ (ปทุมธานี 1 , สังข์หยดพัทลุง , ขาวดอกมะลิ 105 , กข 49 , กข 41 , กข 31 , กข 47 , กข 6) ข้าวไร่ 3 พันธุ์ (ดอกพะยอม ,ซิวแม่จัน และลืมผัว ) ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่างๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2558 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ แต่ละปีนั้นประกอบด้วย 2 ช่วงคือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น “วันเกษตรกรประจำปี” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา โดยในปี 2558 เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 ราย· อาชีพทำนา ได้แก่ นางสาวสดวก จำรัส บ้านเลขที่ 297 หมู่ที่ 9 ตำบลร่องอากาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ · อาชีพทำสวน ได้แก่ นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 13 ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร · อาชีพไร่นา ได้แก่ นายสนั่น ยิ้มระย้า บ้านเลขที่ 43/1 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองหญ้าไซ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี · อาชีพไร่นาส่วนผสมได้แก่ นางรำพึง อินทร์สำราญ บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 3 บ้านกระเบื้อง ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ · อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางรุจาภา เนียนไธสง บ้านเลขที่ 95 หมู่ที่ 14 บ้านหัวสะพาน ตำบลบ้านยาง อำเภอพุทไธสง จัดหวัดบุรีรัมย์ · อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี บ้านเลขที่ 95/1 หมู่ที่ 9 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี · อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสำเนา เกาะกาเหนือ บ้านเลขที่ 250 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก · อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายฉัตรกุล ถิ่นท่าเรือ บ้านเลขที่ 40/5 หมู่ที่ 3 ตำบลพลายวาส อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี· อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมศักดิ์ แก้วมณีทอง บ้านเลขที่ 11/7 หมู่ที่ 3 ตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี · อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นาวสาวสิรินุช ฉิมพลี บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 7 ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม· สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายสุรชัย แซ่จิว บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 8 ซอยเสาธงกลางจระเข้ใหญ่ ถนนบางนาตราด กม.23 ตำบลศรีษะจระเข้ใหญ่ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ · สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสมโภช ปานถม บ้านเลขที่ 253 หมู่ที่ 5 ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง· สาขาการใช้วิชาเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายปลื้ม จันทุง บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง· ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายพนม จันทร์ดิษฐ บ้านเลขที่ 325/66 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์· สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ เด็กชายพีรพงษ์ หลงศิริ บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 8 ตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 สถาบัน· กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านคลองกล้วยเหนือ ที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 9 ตำบลไร่อ้อย อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ · กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนท่าอยู่ ที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าอยู่ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา · กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่นากลาง ที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 156/41 หมู่ที่ 1 ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา · กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือสวยงามบ้านดอนสมอที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 30/21 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม · กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 145/1 หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง · กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพทำปลาส้มบ้านตะคุ ที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 5 ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม · กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรลำสินธุ์ ที่ทำการกลุ่ม หมู่ที่ 3 ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง · กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา ที่ทำการกลุ่ม โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา ตำบลบุดี อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา · กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผลิตพันธุ์ข้าวบ้านช้างมิ่ง จังหวัดสกลนคร ที่ทำการกลุ่ม ศาลาเอนกประสงค์บ้านช้างมิ่ง หมู่ที่ 17 ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร · สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้อยจระเข้มาก ที่ทำการกลุ่ม บ้านจระเข้มาก หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านบัว อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ · ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านตาอ็อง จังหวัดสุรินทร์ ที่ทำการศูนย์ บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 1 ตำบลตาอ็อง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ · ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านวังน้ำเย็น จังหวัดแพร่ ที่ทำการศูนย์ บ้านวังน้ำเย็น หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยม้า อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ · วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชน ที่ทำการกลุ่ม บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์· สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรสบปราบ จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 14 ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง · สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมไทย - เดนมาร์ค ก.น.ข. หนองรี จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 426 หมู่ที่ 1 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี · สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 140 หมู่ที่ 5 ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง · สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านโคกม่วง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 248 หมู่ที่ 11 ตำบลโคกม่วง อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง · สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ ร้านสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 9 ตำบลหนองครก อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ · สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลลำปาง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 280 ถนนพหลโยธิน ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง · สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านทุ่งเลียบ จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 7 ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2558 จำนวน 3 สาขา คือ
(1) นายสมศักดิ์ เครือวัลย์ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
(2) นายชัยพร พรหมพันธุ์ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น
(3) นายสืบศักดิ์ จินตาพล เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย
ทั้งนี้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่น และปราชญ์เกษตรทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2558 ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง