นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า โครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล” เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารในการผลิตอาหารสำหรับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยทั่วไป โดยสนับสนุนให้บุคลากรของสถาบันอาหารได้ใช้ความรู้ ความสามารถในด้านมาตรฐานสุขอนามัยในระดับสากลมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเมื่อต้องบริโภคอาหารร่วมกับคนจำนวนมากโดยเฉพาะในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการผลิตอาหารให้ปลอดภัย โดยก่อนหน้านี้สถาบันอาหารได้เริ่มดำเนินโครงการ GMP in Mass Catering เป็นครั้งแรก โดยเริ่มต้นที่กลุ่มเด็กและเยาวชนภายใต้ชื่อโครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงเรียน” โดยได้ร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนนำร่องในการเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าวเป็นโรงเรียนแรก นอกจากนั้นยังร่วมกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 10 โรงเรียน ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
“ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จากการเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาครัว และฝ่าย/หน่วยโภชนาการของโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้ป่วยให้ได้มาตรฐาน GMP in Mass Catering ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านสุขอนามัยสากล ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก Codex ทั่วโลกในการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคให้แก่คนจำนวนมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารในการผลิตอาหารสำหรับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยทั่วไป นอกเหนือจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องยึดหลัก GMP เป็นมาตรฐานเบื้องต้นในการผลิตอยู่แล้ว
“ปัจจุบันสถาบันอาหารได้ให้การรับรองระบบ GMP in Mass Catering แก่โรงพยาบาลไปแล้ว 7 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช, รพ.ตำรวจ, รพ.สงขลานครินทร์, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก), รพ.มหาราชนครเชียงใหม่(รพ.สวนดอก), รพ.ศรีนครินทร์ และรพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย โดยสถาบันอาหารได้รับความไว้วางใจจากโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ในระดับสากล เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับสถาบันอาหาร
ตั้งแต่ปี 2554 และเนื่องจากครัวโรงพยาบาลศิริราชมีมาตรฐานความปลอดภัยอาหารในการบริการผู้ป่วยในระดับมาตรฐานอยู่แล้ว สถาบันอาหารจึงได้มุ่งให้ความสำคัญและช่วยดูแลเป็นพิเศษในเรื่องการประเมิน การสำรวจพื้นที่ และสังเกตการปฏิบัติงานจริงพร้อมอบรมให้ความรู้ให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อลดการปนเปื้อนต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แล้วจึงนำข้อแนะนำใน GMP in Mass Catering ที่ทางสถาบันอาหารจัดทำขึ้นมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ปรับจากมาตรฐานสากลและข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหารภายในประเทศ”
รพ.ศิริราชได้รับการรับรองระบบ GMP in Mass Catering แล้ว 3 หน่วยด้วยกัน ได้แก่ หน่วยอาหารทางสายให้อาหาร หน่วยผสมนมสำหรับเด็ก ห้องจัดเลี้ยงและห้องเตรียมอาหารเฉพาะกิจ ต่อมาได้พัฒนามาตรฐานการผลิตนมสำหรับเด็ก เป็นระบบ HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Points) ซึ่งสถาบันอาหารได้ให้การรับรองระบบ HACCP แก่หน่วยผสมนมสำหรับเด็ก ไปเมื่อปี 2556 นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และได้ตรวจให้การรับรองเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีแผนจะเข้าดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ครัวทุกส่วนภายในโรงพยาบาลในระยะต่อไป
ในปี 2555 สถาบันอาหารได้ให้การรับรองระบบ GMP in Mass Catering แก่ รพ.ตำรวจ ครอบคลุมพื้นที่ครัวผลิตอาหารทั่วไป อาหารเฉพาะโรค และอาหารทางสายยาง หลังจากนั้นในแต่ละปี ทางฝ่ายโภชนาการ รพ.พยาบาลตำรวจยังคงรักษาระบบและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ทางสถาบันอาหารเข้าไปตรวจให้การรับรองทุกปี ตั้งแต่ปี 2555-ปัจจุบัน ซึ่งครัวรพ.ตำรวจให้บริการผู้ป่วยราว 166,000 คน/ปี บริการบุคลากร เจ้าหน้าที่ราว 22,995คน/ปี
ปี 2557 สถาบันอาหารได้ให้การรับรองระบบ GMP in Masst Catering รวม 5 โรงพยาบาล ได้แก่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ สำหรับพื้นที่ครัวผลิตอาหารทั่วไป อาหารเฉพาะโรค อาหารทางสายยาง (ยกเว้นห้องนม) โดยในอนาคตทางผู้บริหารรพ.มีแนวคิดจะการปรับพื้นที่ภายในครัว (Renovate) ให้ทันสมัย ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ให้คำแนะนำในการออกแบบให้สอดคล้องตามหลักการของ GMP แล้ว ทั้งนี้ครัวของรพ.ให้บริการผู้ป่วยราว 70,000 คน/ปี ให้บริการศูนย์ศรีพัตร์ (หน่วยงานเครือข่าย) 17,700 คน/ปี ถวายเพลพระ 6500 รูป/ปี และบริการบุคลากร เจ้าหน้าที่ 267,545คน/ปี
สำหรับ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น สถาบันอาหารได้ให้การรับรองพื้นที่ผลิตอาหารและงานบริการงานโภชนาการทุกพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ผลิตอาหารผู้ป่วยทั่วไป อาหารเฉพาะโรคและห้องอาหารทางสาย ปัจจุบันรพ.ให้บริการผู้ป่วยเฉลี่ย 50,000 คน/ปี เช่นเดียวกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) ที่ได้รับการรับรองครอบคลุมทุกพื้นที่การผลิตอาหารบริการผู้ป่วยในส่วนครัวฝ่ายโภชนาการ ได้แก่ อาหารผู้ป่วยทั่วไป อาหารเฉพาะโรค อาหารทางสายยาง และห้องนม โดยครัวรพ.ให้บริการผู้ป่วยในราว 420 -500 คน/วัน หรือราว 153,300 -182,500 คน/ปี และให้บริการบุคลากร เจ้าหน้าที่รวม 12,410 คน/ปี
ด้าน รพ.สงขลานครินทร์ ได้ให้การรับรองห้องอาหารทางสาย ได้แก่ พื้นที่เตรียมและจัดเก็บที่เกี่ยวข้องกับอาหารทางสาย และห้องนม โดยมีแผนดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของอาหารทั่วไปและอาหารเฉพาะโรค ในเบื้องต้นทางผู้บริหารรพ.เห็นควรให้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการจัดทำระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยในราว 268,017 คน/ปี สวัสดิการและบุคลากร 111,577 คน/ปี และส่วนครัวสำหรับจัดเลี้ยง 14,265 คน/ปี
ล่าสุด รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย สถาบันอาหารได้ให้การรับรองห้องอาหารทางสายยาง รวมถึงพื้นที่เตรียมและจัดเก็บที่เกี่ยวข้องกับอาหารทางสาย ระหว่างนี้ทางรพ.มีแผนในการปรับปรุง(Renovate) ครัวผลิตอาหารทั่วไป อาหารเฉพาะโรค ครัวผลิตอาหารบริการบุคลากรของโรงพยาบาล และครัวอาหารฮาลาล ก่อนเข้าร่วมโครงการกับสถาบันอาหารในเฟสต่อไป ทั้งนี้ปัจจุบันครัวรพ.ให้บริการผู้ป่วยใน 400- 450 คน/วัน หรือราว 146,000-164,250 คน/ปี และให้บริการเจ้าหน้าที่ 800 คน/วัน หรือราว 292,000 คน/ปี
นอกจากนี้ทางสถาบันอาหารยังได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจพื้นที่และการปฏิบัติงานจริง ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงพื้นที่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากรพ.อยู่ในระหว่างจัดทำแผนดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ของโรงพยาบาล ทางสถาบันอาหารจึงดำเนินการเฉพาะในส่วนของการจัดวิทยากรมาอบรมให้ความรู้ในการปฏิบัติงานเรื่อง “ครัวอนามัย ใส่ใจผู้บริโภค” ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรพ.รวม 3 รุ่น จำนวน 270 คน
จากการดำเนินโครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล” ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน สถาบันอาหารได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร คณะทำงาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายโภชนาการและที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาล เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน GMP in Mass Catering รวมแล้ว 640 คน และคาดว่ามีประชาชนที่เข้ารับบริการจากครัวโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้รับการรับรองระบบแล้วหลายล้านคน
นางอรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 สถาบันอาหาร มีแผนดำเนินการโครงการดังกล่าวเพิ่มอีก 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน โดยมีบางส่วนตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้ว อาทิ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน รพ.เวชการุณรัศมิ์ รพ.จุฬาภรณ์ และรพ.ธรรมศาสตร์ นอกเหนือไปจากการติดตามและประเมินรับรองระบบประจำปีอย่างต่อเนื่องให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์มา และในอนาคตจะขยายโครงการ GMP in Mass Catering ไปยังกลุ่มธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ฟู้ดเซ็นเตอร์ในห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารต่างๆ เพื่อความมั่นใจในการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัยของประชาชน
“วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดสำหรับโครงการ “ครัวอนามัย อาหารปลอดภัยในโรงพยาบาล” ก็คือ การที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารโรงพยาบาล และบุคลากรฝ่ายโภชนาการ ได้มาช่วยกันสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่อง ความปลอดภัยด้านอาหารในการให้บริการแก่ผู้ป่วยและบุคลากร ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการภายในโรงพยาบาล ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างความเชื่อมั่นเรื่องอาหารปลอดภัยให้แก่ประเทศไทยซึ่งเป็นภารกิจเพื่อสังคมที่สถาบันอาหารตั้งปณิธานและริเริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน นอกเหนือไปจากภารกิจหลักที่มุ่งผลักดันมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากลไปยังภาคอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหารหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิต และเชื่อว่าจะเกิดความตื่นตัวได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit