รายงานวิจัยล่าสุดของเอคเซนเชอร์พบว่า การบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงด้วยปัจจัยขับเคลื่อนหลายอย่าง อาทิ ชนชั้นผู้บริโภคที่เติบโตมากขึ้น รายได้ที่สูงขึ้น การขยายตัวของสังคมเมือง ได้ก่อให้เกิดผู้บริโภครายใหม่ ๆ ในอาเซียน คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 7.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัจจัยเหล่านี้จะสร้างโอกาสมหาศาลให้แก่ธุรกิจ หากสามารถจับตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ด้วยการใช้กลยุทธ์โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอาเซียนที่มีการสื่อสารเชื่อมโยงสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย
ในฐานะที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน ประกอบกับมีภาคการผลิตและการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งAccenture Strategy ประมาณการว่า ภายในปี 2020 เศรษฐกิจไทยจะมีขนาดมูลค่า 4.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (compound annual growth) ร้อยละ 4.3 และคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทย จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวไปแตะระดับ 3.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในช่วงห้าปีข้างหน้า
รายงานล่าสุดของเอคเซนเชอร์เรื่อง “โอกาสที่พลาดไม่ได้ในอาเซียน: ผู้บริโภคใหม่ 100 ล้านราย กับตลาดมูลค่า 7.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ” พบว่า ภายในปี 2017 รายได้หลังหักภาษีของทั้งภูมิภาคอาเซียนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ประชากร 40 ล้านคนมีฐานะขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มรายได้สูงขึ้น ส่งผลให้พวกเขาสามารถจับจ่ายสินค้าระดับพรีเมียมมากขึ้นด้วย
อาเซียนนั้นเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คาดว่าภายในปี 2020 จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ Accenture Strategy ประมาณการว่า ภายในระยะห้าปีข้างหน้า จะมีประชากร 60 ล้านคนในภูมิภาคที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นผู้บริโภค เป็นกลุ่มซึ่งมีอำนาจจับจ่ายสินค้านอกเหนือจากสินค้าจำเป็นพื้นฐานเป็นครั้งแรก สำหรับประเทศไทย ชนชั้นผู้บริโภคจะมีจำนวนมากขึ้นอีก 9 ล้านคน รวมเป็น 35 ล้านคน จะทำให้เกิดการใช้จ่ายอีกมูลค่า 2.73 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2020
โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคในไทย จะมีปัจจัยขับเคลื่อนโดยความต้องการสินค้าที่พรีเมียมมากขึ้น สินค้าลักซูรีหรือแบรนด์ต่างประเทศ รวมทั้งความต้องการใช้ชีวิตโดยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ภาพลักษณ์ดีขึ้น (เช่น การบริโภคที่แสดงออกให้เป็นจุดสนใจ) และได้ประสบการณ์ใหม่จากพฤติกรรมการบริโภคใหม่นั้น
รายงานของเอคเซนเชอร์ระบุว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคนี้ จะขยายตัวร้อยละ 9 ต่อปี คาดว่าภายในปี 2017 จะมีมูลค่า 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี จะเกิดขึ้นในปีนี้ คุณประโยชน์อย่างหนึ่งที่จะได้รับจากเออีซีคือ การทำให้ภูมิภาคนี้เป็นที่น่าสนใจในฐานะตลาดผู้บริโภคแห่งหนึ่งในโลกที่น่าดึงดูดใจที่สุด จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศภายในภูมิภาคนี้ง่ายขึ้น
นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนที่สดใส สะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกสำหรับธุรกิจ อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตเช่นนั้นหมายความว่า ตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีมีส่วนทำให้ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะมีบริการที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดี กิจการที่หวังจะแข่งขันเพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคใหม่จะต้องกล้าและต้องเร็ว หากต้องการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากตลาดใหม่นี้ คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจ คือให้เข้าไปในภูมิภาคหรือขยายฐานในอาเซียน หากจะสรุปสั้น ๆ คือ ต้องรุกเท่านั้น และลงมือตั้งแต่วันนี้”
แม้ครั้งนี้จะเป็นโอกาสใหญ่สำหรับธุรกิจที่อาจเปลี่ยนผู้บริโภคอาเซียนนับล้าน ให้กลายเป็นลูกค้าที่ภักดีได้ในอีกสองสามปีข้างหน้า แต่ธุรกิจก็จะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าไปยังพื้นที่ในภูมิภาคซึ่งมีความแตกต่างและตั้งอยู่กระจัดกระจาย หรือจะสร้างความภักดีได้อย่างไรในสภาวะที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วการจัดส่งสินค้าไปยังพื้นที่ที่ตั้งอยู่กระจัดกระจาย
ภูมิภาคนี้ถือว่ามีพื้นที่ที่แตกต่างมากและตั้งอยู่กระจัดกระจาย เป็นภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ที่มีประชากรมั่งคั่ง มีชุมชนเมืองเกิดใหม่หลายแห่ง มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีเครือข่ายการกระจายสินค้าหลายชั้น มีข้อมูลตลาดที่เชื่อถือได้จำนวนน้อย ตลาดภูมิภาคนี้จึงเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจอุปโภคบริโภคในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เมืองในกลุ่มระดับบนของภูมิภาคซึ่งมีเครือข่ายค้าปลีกเชื่อมต่อถึงกัน ทั้งร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็ยังมีร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ที่บริหารงานในระบบครอบครัวอีกห้าล้านแห่ง มีบทบาทในการขับเคลื่อนยอดขายของชำร้อยละ 75 ของภูมิภาค สำหรับประเทศไทย เมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้ว มีร้านขายของชำแบบครอบครัวถึง 800,000แห่งที่จะยังคงมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 ของยอดขายของชำทั้งหมดในปี 2017
นอกจากนี้ การที่ไทยพึ่งพาการขนส่งทางบกมาก มีการพัฒนาระบบรางนอกเมืองใหญ่น้อย ทำให้ต้องใช้การขนส่งหลายรูปแบบในการขนส่งสินค้า ก็นับเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของธุรกิจ และเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย การเข้าถึงลูกค้า และสร้างความภักดีในกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
รายงานของเอคเซนเชอร์เผยให้เห็นว่า ผู้บริโภคชาวไทยที่มีการสื่อสารเชื่อมโยงกันมากนั้น มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแบรนด์หรือสินค้า อีกทั้งยังอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกขั้นตอนของการซื้อ การสำรวจพบว่า ร้อยละ 73 ของผู้บริโภคในไทยใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ขณะที่อีกร้อยละ 66 อ่านรีวิวออนไลน์และความเห็นของผู้บริโภคคนอื่น ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ
นอกจากนี้ ด้วยสภาพพื้นที่ในชนบทและภูมิภาคและการขาดโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานที่เข้าถึงบ้านเรือน ทำให้โทรศัพท์มือถือเป็นแพล็ตฟอร์มที่คนใช้สื่อสารกัน ดังนั้นธุรกิจจึงต้องใช้ช่องทางสื่อให้มากกว่าแบบเดิม ๆ เพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งดึงความสนใจของลูกค้าไว้ด้วยการให้ประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เหนือกว่า
รายงานยังระบุว่า มีผู้บริโภคไทยเพียงร้อยละ 47 ที่ภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของตลาดผู้บริโภคมีศักยภาพให้ธุรกิจสามารถเข้าไปเจาะตลาดได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์สินค้าของคู่แข่งก็ได้
โอกาสที่พลาดไม่ได้ในตลาดอาเซียน: ยุทธศาสตร์เพื่อความสำเร็จในการช่วงชิงลูกค้า
“การเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จในการรักษาลูกค้าและเพิ่มความภักดีให้ครอบคลุมตลาดอาเซียน ธุรกิจจะต้องลงมือตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อจับความต้องการของผู้บริโภคให้อยู่หมัด ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะหาซื้อสินค้าของพวกเขาได้โดยง่ายและมีโมเดลการประกอบธุรกิจที่สมดุลกันทั้งประสิทธิภาพในระดับภูมิภาค ขณะที่ยืดหยุ่นสำหรับประเทศต่าง ๆ ด้วย รวมทั้งอิงกับข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นหลัก” นนทวัฒน์กล่าว “ภายในปี 2020 เราคาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโต มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหกของโลก ด้วยมูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ” เขากล่าวเสริม
“ด้วยศักยภาพทั้งหลายทั้งปวง ผู้บริหารธุรกิจต้องมองว่าโอกาสในตลาดอาเซียนนั้น พลาดไม่ได้ และต้องทำทุกอย่างตอนนี้เพื่อรักษาจุดยืนในภูมิภาคเอาไว้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจการข้ามชาติหรือธุรกิจในประเทศ ต้องลงทุนเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพขององค์กรในด้านต่าง ๆ เพื่อขยายฐาน ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น การจะทำให้ลูกค้าภักดีต่อแบรนด์นั้นต้องมีแผนงานชัดเจน ปฏิบัติการอย่ารวดเร็ว และต้องยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับไปตามพื้นที่ที่แตกต่างและตั้งอยู่กระจัดกระจายกัน รวมทั้งปรับให้ทันตามผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็วด้วย”ระเบียบวิธีวิจัย
เอคเซนเชอร์ดำเนินการวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพลวัตของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน เอคเซนเชอร์ทำแบบสำรวจจากผู้บริโภค 1,800 คนในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซียน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม อีกทั้งยังทำวิจัยเชิงลึกและวิเคราะห์ผลของแต่ละประเทศ เกี่ยวกับตลาด กฎระเบียบต่าง ๆ แนวโน้มผู้บริโภคและการค้าปลีก โดยมีข้อมูลอ้างอิงจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้ง HIS Global Insights Inc. และ Euromonitor International
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit