สศก.18 แจงสถานการณ์ไม้ผลภาคใต้ฝั่งอันดามัน แนะเกษตรกรดูแล-พัฒนาคุณภาพ

07 May 2015
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 18 เผย สถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ปี 58 ระบุ ปริมาณผลผลิตในภาพรวม จำนวน 53,347 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 242 ตัน แนะดูแลและพัฒนาคุณภาพผลไม้ตามความต้องการของผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัย

นายบัณฑิต เกษราพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 18 กระบี่ (สศก.18) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตผลไม้ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ปี 2558 (ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และกระบี่) ว่ามีปริมาณผลผลิตในภาพรวม ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง จำนวน 53,347 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 242 ตันคิดเป็นร้อยละ 0.45 โดยหากจำแนกไม้ผลแต่ละชนิด พบว่า เงาะ เนื้อที่ให้ผล 11,075 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 0.43 ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มการดอกและติดผลอ่อน คาดว่าปริมาณผลผลิต 5,860 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 3.15 สาเหตุเนื่องมาจากราคาดีในปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงให้การดูแลรักษาและใส่ปุ๋ย ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายน และปริมาณผลผลิตจะมากเดือนสิงหาคม

ทุเรียน เนื้อที่ให้ผล 22,972 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 6.51 ขณะนี้อยู่ในช่วงติดผลอ่อนและรอการเจริญเติบโตของผลผลิต คาดว่าปริมาณผลผลิต 14,455 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 6.51 เนื่องมาจากราคาดีในปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงให้การดูแลรักษาและใส่ปุ๋ย ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม- กันยายน และปริมาณผลผลิตจะมากเดือนสิงหาคมมังคุด เนื้อที่ให้ผล 30,753ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 2.79 ไร่ เนื่องจากต้นตายจากปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้อยู่ในช่วงการออกดอก คาดว่าปริมาณผลผลิต 22,106 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 4.90 ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และปริมาณผลผลิตจะมากเดือนกันยายน

ลองกอง เนื้อที่ให้ผล 20,674 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 3.80 เนื่องจากต้นตายจากปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้อยู่ในช่วงจะออกดอก คาดว่าปริมาณผลผลิต 10,926 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 1.51 ถ้าออกดอกในช่วงปลายเดือนเมษายน ผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนสิงหาคม–ตุลาคม และปริมาณผลผลิตจะมากเดือนกันยายน

ทั้งนี้ แนะให้เกษตรกรเร่งดูแลไม้ผลดังกล่าว ซึ่งขณะที่อยู่ในช่วงการออกดอกและติดผลอ่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพให้ได้ตามความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการของตลาดสินค้าที่ปลอดภัยซึ่งมีอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว หรือเกษตรกรรายย่อยสามารถนำผลิตมาขายแก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยผ่านช่องทางการตลาดเกษตรกรได้ภายในจังหวัด ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์