นับตั้งแต่ภัยพิบัติสึนามิในปี 2547 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสความเคลื่อนไหวด้านการทำงานอาสาสมัครในประเทศไทย ปัจจุบันงานอาสาสมัครมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยหลายประเด็น อาทิ งานอาสาสมัครภัยพิบัติ ดังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล อาสาสมัครและผู้คนจำนวนมากต่างระดมความช่วยเหลือผ่านความถนัดของตนเอง, งานอาสาสมัครภาคการศึกษา ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องสถาบันการศึกษาต่างสนับสนุนให้เยาวชนเรียนรู้งานอาสาสมัครมากขึ้นผ่านกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน, งานอาสาสมัครกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สอดรับกับสภาวะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการทำงานอาสาสมัครประเด็นทางสังคมที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ หรือปัจเจกบุคคลที่มีแนวโน้มในการรวมตัวกันอย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งการทำงานอาสาสมัครที่เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆนี้ มีการสะสมประสบการณ์ องค์ความรู้ เครื่องมือในการทำงาน อันจะเป็นประโยชน์หากได้ถูกนำมาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน หรือนำความรู้ไปต่อยอดการทำงานในสังคม
นางขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า "งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 1” กำหนดจัด 7-8 พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ครั้งนี้ สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีที่มีการประชุมเรื่องแนวทางการพัฒนางานอาสาสมัครไทยเมื่อ 29 มีนาคม 2555 ลงมติตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรประสานงานอาสาสมัครระดับชาติ (National Coordinating Agency of Volunteering) เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานเชื่อมโยงการทำงานอาสาสมัครในประเทศไทย เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และเผยแพร่งานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนา (Volunteering for Development) และยกระดับการทำงานอาสาสมัครซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศไทยต่อไป"
นางสาวนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา ในฐานะผู้แทนภาคประชาสังคมในคณะอนุกรรมการส่งเสริมงานอาสาสมัครแห่งชาติ รวมถึงเป็นภาคส่วนที่ทำงานขับเคลื่อนในโครงการจัดตั้งองค์กรประสานงานอาสาสมัครระดับชาติ (National Volunteer Coordinating Agency) กล่าวว่า “การริเริ่มงานครั้งนี้เพื่อต้องการเปิดพื้นที่ในการนำเสนอ งานความรู้, ประสบการณ์ และตัวแบบของปฏิบัติการ ด้านงานอาสาสมัคร อันเชื่อมโยงกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ”
ภายในงานพบกับการปาฐกถาพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านคือ รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หัวข้อ “กระบวนการอาสาสมัครกับการพัฒนาการศึกษา, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “งานอาสาสมัครกับการสร้างความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม” และ ศ.ดร.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ในหัวข้อ “งานอาสาสมัครกับการพัฒนาสุขภาวะของสังคม
ตลอดงานประชุมทั้ง 2 วัน จะมีห้องประชุมย่อยที่นำเสนอผลกระทบของงานอาสาสมัครที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการศึกษา, เยาวชน ด้านสิ่งแวดล้อม, ภัยพิบัติ, การพัฒนาชุมชน ด้านสวัสดิการสังคม, สุขภาพ, สิทธิมนุษยชน การถ่ายทอดประสบการณ์งานอาสาสมัครจากต่างประเทศผ่านงานวิจัย รวมถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้นำเสนอเครื่องมือการทำงาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานอาสาสมัครให้มีคุณภาพ และสร้างความยั่งยืนต่อการพัฒนาสังคมและชุมชน แนวคิดการพัฒนางานอาสาสมัครเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสังคมไทยและยกระดับงานอาสาสมัครในระดับสากล
ตัวอย่างการแลกเปลี่ยนความรู้ในหลากหลายประเด็น ได้แก่ อาสาสมัครกับการสร้างสังคมความเป็นพลเมือง (Volunteering: A way to create civil society) แนวคิดและการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาสาสมัครกับการสร้างความเป็นพลเมือง โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาสาสมัครกับการศึกษา ในหัวข้อ “กระบวนการอาสาสมัครกับการส่งเสริมการเรียนรู้: ประสบการณ์ของไทยและประเทศญี่ปุ่น” กระบวนการอาสาสมัครที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยและประสบการณ์ตรงจาก International Association of Volunteer Effort (IAVE) ประเทศญี่ปุ่น องค์กรส่งเสริมงานอาสาสมัครระดับโลกที่มีการหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยประเทศญี่ปุ่น และอาสาสมัครกับการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ โดยมูลนิธิกระจกเงาเพื่อระดมความคิดเห็นหัวข้อ “Next Boxing Day: มองอนาคตภัยพิบัติเพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอองค์ความรู้งานอาสาสมัครจากงานวิจัยและประสบการณ์ตรงจากหน่วยงานที่หลากหลายอาทิ รายงานสถานการณ์งานอาสาสมัคร ประเทศไทย นโยบายและกลไกการส่งเสริมงานอาสาสมัครระดับชาติ นำเสนอบทสังเคราะห์จากงานวิจัย “สถานะของงานอาสาสมัครในประเทศไทย” ภาพรวมสถานการณ์งานอาสาสมัครในประเทศไทยและการประเมินการสร้างผลกระทบทางสังคมด้านการพัฒนาประเทศและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กลไกสนับสนุนด้านอาสาสมัครในแต่ละประเทศกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์, ศูนย์อาสาสมัคร (Volunteer Center) นำเสนอเรื่อง “กลไกการสร้างศูนย์อาสาสมัครในสถาบันการศึกษา” วิธีการสร้างให้เกิดศูนย์อาสาสมัครในสถาบันการศึกษา แนวทางการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน, ระบบการจัดการอาสาสมัคร (Volunteer Management) “งานเบื้องหลังกิจกรรมอาสาสมัคร” นำเสนอประสบการณ์จาก 3 องค์กรถึงระบบการรับอาสาสมัคร การสร้างพื้นที่การทำงาน การวิเคราะห์จุดมุ่งหมายสำคัญของการสร้างงานอาสาสมัครเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมและหัวใจการทำให้งานอาสาสมัครประสบความสำเร็จ
งานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน, องค์กร และ บุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ มากมายกว่า 22 องค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานอาสาสมัคร และเป็นโอกาสดีสำหรับบุคคลที่สนใจการเป็นอาสาสมัคร ได้มีโอกาสเรียนรู้งานอาสาสมัครจากการถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงผ่านการประชุมเชิงวิชาการ การจัดเวทีเสวนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ อันนำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายทางสังคมและพัฒนาขบวนการอาสาสมัครที่กว้างขวางและยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต
เครือข่ายจิตอาสา โทรศัพท์ 02-319-5017
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit