ฝึกทักษะอาชีพเยาวชน “ประกอบอาหาร” และ “ฝีมือช่าง” สร้างรายได้เสริมระหว่างเรียน ที่ โรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง

07 May 2015
“การปรุงอาหาร” และ “ทำขนม” นับเป็นเรื่องไม่ยากที่จะสร้างเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมให้กับคนไทยได้จำนวนมาก หากมีการส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่องก็มีโอกาสที่จะเป็นทางเลือกให้กลายเป็นวิชาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต

โรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน บางคนไม่มีเงินมาเรียนหนังสือ เมื่อพักกลางวันจึงต้องกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน ปัญหาที่ตามมาคือ นักเรียนส่วนหนึ่งไม่เข้าเรียนภาคบ่ายหนีไปมั่วสุมในที่ต่างๆ

อีกทั้งร้านอาหารที่มีเพียงร้านเดียว ก็ทำอาหารไม่หลากหลายตามหลักโภชนาการ ปัญหาดังกล่าวทำให้ทางโรงเรียนเกิดความคิดที่จะแก้ไขด้วยการจัดทำ “โครงการฝึกทักษะชีวิตและอาชีพเสริมรายได้ระหว่างเรียน” ขึ้น ภายใต้โครงการ “นวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้นักเรียนได้อิ่มท้อง และรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ขณะเดียวกันยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักประกอบอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย

นางอังศุมาลิน ขันเงิน รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุ่งมะแลง กล่าวว่า “ครอบครัวเด็กนักเรียนในชุมชนแห่งนี้ล้วนเป็นนเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ปัญหาของเด็กๆ นอกจากไม่ได้รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการแล้ว พวกเขายังไม่มีแต้มต่อที่จะเรียนต่อในสายวิชาการ ทั้งยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกในการดำเนินชีวิต ด้วยการฝึกทักษะอาชีพการประกอบอาหารที่สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด”

นางเพ็ญศรี ภิญโญ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กระบวนการต่างๆ ภายใต้โครงการนี้นักเรียนไม่เพียงแต่จะต้องฝึกทักษะอาชีพให้ได้แล้ว ยังจะต้องเรียนรู้ในเรื่องของการค้าขาย และฝึกการทำบัญชี เพราะมีเป้าหมายคือต้องการให้นักเรียนที่เรียนจบไปแล้วมีวิชาชีพติดตัว ที่พวกเขาจะสามารถนำไปประกอบอาชีพหรือเป็นความรู้พื้นฐานในการนำไปศึกษาต่อในสายอาชีวะ

โดยการฝึกทักษะอาชีพนั้นจะมีการแบ่งความยากง่ายไปตามชั้นเรียน โดยเริ่มจาก มัธยมศึกษาปีที่ 1 จะเรียนรู้เรื่องการทำเครื่องดื่มชนิดต่างๆ รวมไปถึงน้ำผลไม้ปั่นตามฤดูกาล มัธยมศึกษาปีที่ 2 จะเป็นเรื่องอาหารว่างและขนมต่างๆ อาทิ ลูกชิ้น,ฮอตดอกทอด, ขนมรังผึ้ง ขนมโดนัท ขนมเวเฟอร์ และ มัธยมศึกษาปีที่ 3 จะได้เรียนการทำอาหารจานเดียว โดยมีเมนูที่นิยมคือ ข้าวผัดกระเพรา, ข้าวมันไก่, ข้าวขาหมู, ข้าวราดผัดพริกแกง, ขนมจีนน้ำยา, ข้าวหมูแดง, ราดหน้า, ผัดไทย, ผัดฉ่าไก่ฯลฯ

“ครูจะลองฝึกทำกับยูทูปมาก่อนแล้วจึงไปฝึกให้กับเด็ก บางครั้งเราก็มีพ่อแม่ของเด็กมาช่วยจ่ายตลาดและมาเป็นวิทยากรสอน เรียกได้ว่า ครูกับนักเรียนเราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนผลงานของเด็กๆ นอกจากจะมีการแบ่งปันให้เด็กที่ไม่มีอาหารเย็นนำกลับบ้านแล้ว ยังจำหน่ายในโรงเรียนในราคาถูก มีการนำไปฝากขายในร้านค้าของหมู่บ้าน และบางครั้งก็ได้รับออร์เดอร์ทำส่งขายในงานเทศกาลต่างๆ ที่สำคัญเด็กๆ ต้องฝึกการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การบริหารงาน บริหารเงินและสต็อกวัตถุดิบด้วย เป็นการนำวิชาความรู้ในห้องเรียนมาใช้ในชีวิตจริง โดยจะมีครูดูแลอย่างใกล้ชิด” คุณครูเพ็ญศรีกล่าว

นอกจากนี้แล้วทางโรงเรียนยังสอนวิชาชีพด้านต่างๆ อาทิ ช่างผม ช่างปูน อีกทั้งยังปรับสภาพแวดล้อมซึ่งอยู่ริมแม้น้ำมูลให้มีมูลค่าด้วยการพัฒนาโครงการเกษตรขึ้นในบริเวณโดยรอบ อาทิ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงหมูหลุม ปลูกพืชผักสวนครัว มะนาว พริก และกำลังพัฒนาไปสู่การปลูกพืชไร่พืชสวนอื่นๆ ริมน้ำ รวมไปถึงการฝึกอาชีพการตัดผมชาย การเป็นช่างไม้พื้นฐานโดยมีครูในโรงเรียนและศิษย์เก่าที่กลับมาช่วยกันเป็นวิทยากร

“นักเรียนชายบางคนไม่ชอบทำอาหาร เราก็ให้ไปเข้าฐานเรียนวิชาที่เขาชอบบางคนเลือกตัดผม หรือไปช่วยครูทำเรื่องการก่อสร้างต่างๆ บางคนเลือกที่จะทำเรื่องการเกษตร ซึ่งก็ได้ผลดี วัตถุดิบส่วนหนึ่งก็นำไปขายให้กับโครงการอาหารในโรงเรียน อีกส่วนหนึ่งก็สามารถนำไปขายสร้างรายได้ เช่น จากการปลูกพริกที่ขายได้กิโลกรัมละ 70 บาท และยังพวกเขาสามารถทำเป็นพริกแห้งเพิ่มมูลค่าขายได้ราคาสูงถึงกิโลละ 120-150 บาทก็มี เหล่านี้เป็นความรู้ที่สามารถเอาไปประกอบอาชีพได้จริง” ครูเพ็ญศรีระบุ

นายวิฑูรย์ หารสาร อายุ 28 ปี ศิษย์เก่าที่มาช่วยเป็นวิทยากรสอนทำอาหารเล่าว่า “การสอนเรื่องอาชีพต้องเน้นเรื่องความสนุกด้วย เด็กจะเบื่อตอนทำความสะอาด ขี้เกียจล้างจาน ล้างหม้อ วิธีแก้คือ เราต้องลงมือและทำกับเขาด้วย จากที่สอนมา 3 ปีพบว่า เด็กบางคนเก่งมาก สามารถนำไปประกอบอาชีพเปิดร้านหรือไปเรียนต่อเรื่องอาหารโดยตรงได้เลย”

ด.ญ.บารณี ปัดชา หรือ “น้องทับทิม” นักเรียนชั้น ม. 2 เล่าให้ฟังว่า “เริ่มเรียนทำขนมก่อน วันแรกๆ ที่ฝึกทำ คุณครูให้เอากลับไปบ้านไปฝากพ่อแม่ แต่ปรากฏว่ามีคนขอชิมระหว่างทางจนหมด แต่หลังจากนั้นก็มีคนมาสั่งทำและได้ฝากขายในร้านค้าใกล้บ้าน จริงๆ แล้วอยากเป็นทหาร แต่การทำอาหารก็เป็นอาชีพเสริมที่ดีค่ะและได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ได้อีกด้วย”

ด.ญ.ฐิตินันท์ บุคะจำปา หรือ “น้องกิ๊ก” นักเรียนชั้น ม. 3 เล่าเสริมว่า “การฝึกอาชีพนี้ทำให้ได้นำเอาวิชาที่เรียนมาใช้และทำให้เรียนเก่งขึ้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ สามารถเอาเรื่องการ ชั่ง ตวง วัด มาคำนวณส่วนผสมการทำขนมหรืออาหารได้ หรือการทำบัญชี เป็นเรื่องไม่ยากถ้าเข้าใจ และยังได้ฝึกให้เราเรียนรู้เรื่องความประหยัดอีกด้วย อย่างแรกที่ทำเป็นคือ ผัดกะเพราเอาไปให้พ่อชิมพ่อก็ชม แต่ก่อนแม่ไม่ให้เข้าครัวบอกว่า เกะกะตอนนี้ให้ทำครัวเป็นลูกมือแม่ได้แล้ว”

“เด็กจะเก่งหรือไม่เก่งไม่สำคัญ แต่ทำอย่างไรจะทำให้เขาอยู่รอด โครงการนี้ได้ทำให้ปัญหาของเด็กที่หนีเรียนไปมั่วสุมน้อยลง เด็กมีโภชนาการดีขึ้น และยังเป็นการสร้างทักษะอาชีพด้านต่างๆ ที่เด็กจะสามารถนำไปใช้ได้ทั้งชีวิต ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีความรับผิดชอบ โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์ มีระเบียบ และประหยัดขึ้น ซึ่งการฝึกวิชาชีพต่างๆ ทั้งหมดนี้ โชคดีที่ชุมชน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และชาวบ้านชาวบุ่งมะแลงให้การสนับสนุน เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาอาชีพให้กับเด็กนักเรียนและลูกหลานของคนในชุมชน” รองผู้อำนวยการ รร.บ้านบุ่งมะแลงกล่าวสรุป.