นางมัลลิกากล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสามารถทำได้เลยเนื่องจากมีการศึกษาและได้พูดคุยกับภาคเอกชน และผู้ประกอบการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฐานภาษีจากการคิดราคาหน้าโรงงาน หรือราคาซีไอเอฟมาเป็นราคาขายปลีก เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และป้องกันปัญหาผู้สำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จหรือต่ำกว่าความเป็นจริง “แผนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตนี้ไม่เหมือนกับการปฏิรูปภาษีตัวอื่นๆ เนื่องจากกรมสรรพสามิตเน้นหลักคงรายได้เดิม (revenue neutrality) การปรับเปลี่ยนมาคิดฐานภาษีบนราคาขายปลีกจะช่วยลดข้อพิพาทกับภาครัฐและเอกชนเรื่องราคาสำแดงที่เป็นปัญหามานาน และทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมหาศาล การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตจะทำให้ระบบภาษีของประเทศไทยมีความทันสมัย ทัดเทียมกับนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ จากที่มีข้อกังวลถึงภาระทางภาษีที่อาจจะเพิ่มขึ้นนั้น ในความเป็นจริงแล้วภาษีตัวนี้จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนหรือผู้ผลิต เพราะรัฐจะต้องพิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บให้สอดคล้องกับฐานภาษีใหม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้น มองว่าการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ไม่น่าจะสร้างปัญหาหรือความวิตกกังวลให้กับผู้บริโภคแต่อย่างใด รัฐต้องสื่อสารจุดแตกต่างตรงนี้ให้ชัดเจนด้วย”
แผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตได้ผ่านการทำวิจัยและศึกษาทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและการพูดคุยกับภาคเอกชนไปแล้ว โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนแนวคิดปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังนี้ด้วย “เป็นโอกาสดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคเอกชนให้ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตอย่างแท้จริง ตลอดจนกระบวนการหารือในรายมาตราและจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นรายอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ดีขึ้นและทันสมัยมากขึ้น เราหวังว่าร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิตจะได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับถัดไปซึ่งสภาหอการค้าฯ ยินดีเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาออกกฎหมายนี้ในทุกขั้นตอน”ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีอากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในแถลงการณ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit