6 องค์กรวิชาชีพด้านสถาปัตย์ เรียกร้องให้รัฐทบทวน โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อก่อสร้างเส้นทางจักรยาน หวั่นเกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในหลากหลายมิติ รวมถึงการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของกรุงเทพฯ ด้วย

07 May 2015
นายกสมาคมวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมทั้ง 6 องค์กร ร่วมกันเสวนาในงานสถาปนิค 58 หรืองานอาสาเน็กซ์ โดยร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการก่อสร้างเส้นทางจักรยานเรียบสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 14 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีความพยายามผลักดันให้สามารถตอกเสาเข็มก่อสร้างให้ทันเดือนตุลาคมนี้ ทั้งที่โครงการยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างดีพอ

โครงการนี้รัฐบาลและกรุงเทพมหานครได้มีแผนในการจัดทำโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตามที่ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครระบุนั้น คือ โครงการก่อสร้างเส้นทางจักรยานคนเมืองริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นระยะทางฝั่งละ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จรดสะพานพระรามเจ็ด โดยรูปแบบการก่อสร้างจะมีการลงเสาเข็มลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งละ 20 เมตร ต้องใช้เวลาก่อสร้างรวม 18 เดือน ซึ่งหลังจากได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ออกไป ก็มีหลายหน่วยงานและองค์กร รวมถึงประชาชนทั่วไปเกิดความคิดเห็นมากมายทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ในฐานะของสถาปนิกประกอบ ด้วย 6 องค์กรอิสระ ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA) สมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย (TUDA) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) สมาคมอีโคโมสไทย (ICOMOSTHAI) และสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ประกอบวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคมตลอดมา จึงขอเป็นหนึ่งกระบอกเสียงในการขอเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนรวมอีกครั้ง

โดยนายกสมาคมและผู้แทนจากทั้ง 6 องค์กรต่างมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ไม่ได้ต้องการคัดค้านโครงการนี้แต่ต้องการเรียกร้องให้ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน เพราะโครงการนี้เกิดมาจากแนวคิดที่ดี ที่ต้องการสนับสนุนให้มีพื้นที่สาธารณะคือเส้นทางเพื่อจักรยานให้ประชาชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง แต่ในบริเวณที่จะมีการก่อสร้าง โดยเฉพาะในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและสถานที่โดยรอบ ซึ่งมีความเก่าแก่และมีวิถีชีวิตชุมชนซ่อนอยู่มากมาย ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ทั้งในด้านภูมิทัศน์ ด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศก็เป็นได้ ที่สำคัญในเส้นทางการก่อสร้างดังกล่าวนั้น ยังอาจไปรบกวนต่อสถาปัตยกรรมโบราณสถานอันควรค่าแก่การอนุรักษ์อีกด้วย โดยเฉพาะแผนงานของกรุงเทพมหานครที่จะเสนอองค์การยูเนสโก สหประชาชาติให้พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมรดกโลก

“เรามองว่าโครงการนี้ มีขนาดใหญ่เกินไป อาจเกินความจำเป็นกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และกระทั่งถึงตอนนี้ยังไม่มีแบบร่างโครงการที่ชัดเจนออกมา แสดงถึงความไม่พร้อมในการดำเนินงาน หากยังคงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไปอาจส่งผลเสียตามมา จึงอยากขอให้ทางผู้ดำเนินโครงการมีการทบทวนการก่อสร้างโครงการนี้ ให้มีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนก่อนการดำเนินการ ไม่ควรเร่งรัดจัดทำจนเกินไป และอยากให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเราจะร่วมกันจัดทำจดหมายยื่นต่อผู้รับผิดชอบต่อไป” นายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าว

นาย ภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) กล่าวว่า อยากถามว่ารัฐบาลตั้งโจทย์ถูกหรือไม่ จะสร้างถนนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใคร คุ้มค่าหรือไม่ทั้งด้านการลงทุน และจิตวิญญาณ “ถ้าตอบโจทย์ไม่ถูกแล้วสร้างออกมาโครงการนี้จะอันตรายมาก เพราะจะไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบ ไม่มีชุมชนช่วยดูแล และจะกลายเป็นพื้นที่อาชญากรรมได้ อีกทั้งพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยามีบริบทต่อประเทศไทยหลายอย่าง ขณะนี้มันคือจิตวิญญาณของเมืองกรุงเทพฯ เป็นรากเหง้าประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่วิวสวยๆ เท่านั้น”

ด้านนายวสุ โปษยานนท์ เลขาธิการสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ ตัวแทนนายกสมาคมอิโคโมสไทย กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำลังจัดการเรื่องทำให้เมืองกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งข้อดีของกรุงเทพฯ คือ แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเหมือนสัญญลักษณ์ของที่นี่ และทำให้กรุงเทพฯต่างจากเมืองอื่น

“แม่น้ำเจ้าพระยาคือที่มาของวัฒนธรรม ทำให้เราแตกต่างจากเมืองอื่นๆ การที่อยากจะให้เจ้าพระยาเหมือนแม่น้ำแซนในยุโรป หรือแม่น้ำฮันในเกาหลีซึ่งมีลักษณะทางกายภาพ และวิถีชีวิตของผู้คนต่างกัน แล้วไปลอกเลียนมา ก็อาจจะทำให้เราเสียคุณค่าอะไรบางอย่างไป เราคงไม่ได้คัดค้านความปรารถนาดีของรัฐบาล แต่กระบวนการในการได้มาซึ่งโครงการเหล่านั้น อย่างการออกแบบ มันไม่จำเป็นว่าโครงการนึงจะมีแค่คำตอบเดียว การที่กรุงเทพฯจะเป็นมรกดโลกจะมีผลกระทบอย่างมากเพราะกรุงเทพฯมีคุณค่าสมกับที่จะได้เป็นมรดกโลกซึ่งประเด็นสำคัญคือ การเลือกที่ตั้งของเมืองโดยมีเจ้าพระเยาเป็นตัวเล่าเรื่อง” นายวสุกล่าว