ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น “เมืองสองแคว” สู่ทักษะชีวิต พัฒนา “ผลิตภัณฑ์” สร้างอาชีพ-เสริมรายได้ที่ รร.วัดพันปี

20 May 2015
เพราะจังหวัดพิษณุโลกมีผืน “ดิน” อันอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งเพาะปลูก “กล้วย” คุณภาพดีโดยเฉพาะ “กล้วยตาก” บางกระทุ่ม ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของจังหวัด นอกจากนี้ “ดิน” ของเมืองสองแควยังเหมาะสมสำหรับการผลิตเป็น “เครื่องเคลือบดินเผา” ที่สืบทอดภูมิปัญญามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงส่งออกไปจำหน่ายไกลถึงต่างแดน
ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น “เมืองสองแคว” สู่ทักษะชีวิต พัฒนา “ผลิตภัณฑ์” สร้างอาชีพ-เสริมรายได้ที่ รร.วัดพันปี

ประกอบกับทาง โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดพันปี) จังหวัดพิษณุโลก มีนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วไม่ได้เรียนต่อเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ทางคณะครูจึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างเสริม “ทักษะอาชีพ” ให้กับลูกศิษย์ เพื่อสร้าง “ทางเลือก” ในการดำเนินชีวิตเสริมทักษะจะเป็นในการทำงานหรือประกอบอาชีพในอนาคต จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เมืองสองแคว” ขึ้นภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)นางสาวจิราภรณ์ สงวนศิลป์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวว่า ทางโรงเรียนมองเห็นปัญหาของนักเรียนที่จบออกไปแล้ว และไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องออกไปประกอบอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่า มีเด็กที่เก่งทางด้านวิชาการเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเรียนต่อในระดับสูงได้ โดยความตั้งของคณะครูคืออยากให้เด็กๆ ได้รับการฝึกอาชีพที่ต่อเนื่อง ซึ่งการฝึกฝนตั้งแต่เด็กเล็กๆ ในระดับชั้นประถมศึกษาเขาจะเข้าใจและฝึกง่าย แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปถึงระดับมัธยมศึกษา ให้เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง ให้เขาได้มีความสามารถพิเศษที่หลากหลาย สำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต

“ตรงนี้ทำให้เราเข้าไปศึกษาถึงสภาพที่แท้จริงที่บ้านของเด็กๆ และผู้ปกครอง เข้าไปดูสภาพความเป็นอยู่ของเขา และได้เกิดความคิดที่ว่าทักษะชีวิตของคนน่าจะเกิดขึ้นได้ จากสภาพแวดล้อมของเขาเอง ถึงแม้ว่าเด็กบางคนไม่เก่งวิชาการแต่อาจจะเก่งเรื่องอื่น อย่างเช่นเรื่องการฝึกอาชีพ เราจึงปรับการเรียนการสอนให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงและสิ่งที่เขาถนัด” ผอ.จิราภรณ์กล่าวโดยทางโรงเรียนได้พานักเรียนทั้งหมดออกไปสำรวจตลาดที่ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ว่า มีสินค้าอะไรบ้างที่วางจำหน่าย สอบถามถึงที่มาที่ไป วิธีการผลิต การตั้งราคา และพาไปดูแหล่งผลิตกล้วยตากที่ ต.บางกระทุ่ม เพื่อให้เห็น กระบวนการผลิตในขั้นตอนต่างๆ รวมไปถึงไปศึกษาวิธีการทำเซรามิค ที่โรงงานเซรามิคสองแคว ต.วัดจันทร์ ในทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นสินค้าและของตกแต่งบ้าน

จากนั้นคณะครูและนักเรียนจึงนำความรู้ที่ได้รับมาร่วมกันพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองจนเกิดเป็น “ข้าวต้มมัดไส้กล้วยตาก” “คุ๊กกี้กล้วยตาก” และ “บาบาน่าบอล” หรือ “ขนมต้มขาวไส้กล้วยตาก” โดยได้รับความกรุณาจาก อาจารย์พรรณราย เอกอนันตไชย กรรมการสถานศึกษา เป็นวิทยากรรับเชิญ รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “โมบาย” และ “ของตกแต่งบ้าน” ต่างๆ จากเซรามิค

โดยปัจจุบันโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดพันปี) มีห้องสำหรับการฝึกฝนการทำเซรามิค เพื่อให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่การปั้นจนถึงการนำมาระบายสี และเผา แบ่งหน้าที่เป็น แผนกปั้นดิน แผนกอัดดินเข้าแม่พิมพ์ แผนกระบายสี แผนกเผาชิ้นงาน ซึ่งทำได้ครั้งละปริมาณไม่มาก แต่หากสินค้ามีจำนวนมากก็จะส่งไปเข้าเตาเผาที่โรงงานเซรามิคสองแคว ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักนางพรทิพย์ พวงวราพันธ์ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่าบางครั้งเด็กๆ อาจจะเรียนไม่เก่ง แต่เขาก็สามารถที่จะทำคุกกี้ได้เก่ง บางคนที่เป็นเด็กพิเศษสมาธิสั้น ก็สามารถที่จะห่อข้าวต้มได้ดีกว่าเด็กปกติ บางคนก็สามารถทำเองได้โดยครูไม่ต้องสอน ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาในทักษะอื่นๆ ที่เขาถนัดและชื่นชอบนอกเหนือไปจากการด้านวิชาการ

“สิ่งที่สำคัญนอกจากการเรียนรู้ในการผลิตทุกขั้นตอนแล้ว เด็กๆ จะได้ฝึกการขาย ฝึกซ้อมการพูดเสนอขายกับคุณครู จนชำนาญ จากนั้นครูก็จะช่วยพาไปเสนอขายตามร้านกาแฟต่างๆ อย่างคุ๊กกี้กระปุกละ 40-60 บาท ร้านก็จะรับไปขาย 45-65 บาท มีการฝึกวางบิลเขียนใบเสร็จ เขียนผิดถูกมั้งก็ไม่เป็นไร สำหรับรายได้ที่ได้จากการขายนั้น จะขายได้หรือไม่ได้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเรามุ่งเน้นให้นักเรียนได้ฝึกทักษะ แต่ทุกคนจะได้รางวัลจากการฝึกคนละหนึ่งร้อยบาท ส่วนรายได้ที่ได้จากการขายก็จะเก็บเป็นทุนสำหรับซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมในการฝึกอาชีพครั้งต่อๆ ไป” คุณครูพรทิพย์กล่าว

นอกจากนี้โรงเรียนยังได้รับความร่วมมือจากประธานชุมชน นายอวิรุทธิ์ นาทิพย์ ในการประสานงานกับเทศบาลนครพิษณุโลกหาพื้นที่ให้กับเด็กๆ ออกไปจำหน่ายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้ ช่วงเย็นทุกวันเสาร์ในการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน ชาวเมืองสองแควจึงได้เห็นภาพเด็กๆ จากโรงเรียนวัดพันปีออกมาตั้งร้านช่วยกันขายคุกกี้กล้วยตาก ข้าวต้มมัดไส้กล้วยตาก บานาน่าบอล หรือขนมต้มขาวไส้กล้วยตาก โมบายเซรามิค และของตกแต่งบ้านเซรามิค กันเป็นประจำด้วยความสนุกสนาน

ด.ญ.เหมือนฝัน มีอุดร ชั้นประถมศึกษาปี ที่ 6 เล่าว่า “เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนมาได้สามเดือน กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือการได้ฝึกปั้นเซรามิค เพราะทำให้เข้าใจกระบวนการผลิต และเป็นการฝึกสมาธิ ลายที่ถนัดและชอบทำมากที่สุดคือ ลายใบเมเปิ้ล กับลายกระสอบ นอกจากนี้ยังชอบออกมาขายสินค้ากับเพื่อนๆ เวลาจัดงานด้วย เวลามีคนถามเราก็สามารถอธิบายได้”ด.ช.วิริยะ คนึงเหตุ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า “หน้าที่ประจำคือการเขียนลายกระสอบ ระบายสีของตกแต่งบ้าน และโมบาย คุณแม่ก็ชอบและอยากให้ผมทำงานศิลปะ ส่วนตอนขายก็ได้ฝึกการเรียกลูกค้า และรู้สึกภูมิใจมากเวลาที่มีคนมาซื้อผลงานที่ปั้นขึ้นเอง ”

ด.ญ.คีตภัทร บำรุงไทย ชั้นประถมศึกปีที่ 5 เล่าว่า “ชอบทำคุกกี้มากที่สุด และสนุกมากเวลาที่เชิญชวนให้ลูกค้ามาซื้อ ลูกค้าบางคนทดลองรับประทานไปแล้วก็จะกลับมาซื้อก็มี คุณพ่อของหนูก็ทำอาชีพค้าขาย และท่านสนับสนุนให้เปิดร้านคุกกี้ด้วย”“ทุกวันนี้เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งมีคุณค่าจากภูมิปัญญาของลุงป้าน้าอา และคนเก่งๆ ในชุมชนหรือจังหวัดของเขา และเขายังได้ตรวจสอบตนเองว่าชอบหรือถนัดการงานอาชีพแบบไหน ได้เติมเต็มความกล้า และหลักคิดในการทำธุรกิจแบบย่อมๆ ที่ส่งผลไปสู่ผู้ปกครองด้วยโดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีอาชีพอิสระ อย่างเช่นอาชีพค้าขาย เป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งสำหรับเยาวชนที่จะต้องก้าวสู่โลกแห่งความเป็นจริงในการดำเนินชีวิต” ผอ.จิราภรณ์ กล่าวสรุป

ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น “เมืองสองแคว” สู่ทักษะชีวิต พัฒนา “ผลิตภัณฑ์” สร้างอาชีพ-เสริมรายได้ที่ รร.วัดพันปี