นายแพทย์วิรุณ โทณะวณิก ได้ชื่อว่าเป็นรังสีแพทย์รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฝังแร่ และเป็นที่ยอมรับว่ามีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการรักษาที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ โดยได้ทำการรักษามายาวนานกว่า 30 ปี และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการฝังแร่เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมามากกว่า 17 ปี มีจำนวนคนไข้เข้ารับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฝังแร่มากกว่า 2,300 ราย ได้เปิดเผยถึงกรณีที่โรงพยาบาลบางแห่งในประเทศจีนมีการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฝังแร่แล้วไม่สามารถรักษาให้หายแต่กลับทำให้มีผู้เสียชีวิตและแร่แผ่กัมมันตภาพรังสีสู่คนใกล้ชิด เนื่องจากวิธีการรักษาของโรงพยาบาลดังกล่าวผิดหลักวิชาการเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของประเทศอื่นๆ รวมทั้งการใช้แร่ที่อาจไม่ได้มาตรฐาน
“การรักษาในโรงพยาบาลที่มีปัญหาดังกล่าวของประเทศจีนก็คือการฝังแร่ไปในอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวได้เช่นลำไส้หรือปอด ทำให้รังสีสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งนอกจากทำให้เกิดอันตรายแล้วยังทำให้การรักษาไม่ได้ผลเพราะการฝังแร่จะเหมาะกับอวัยวะที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น ต่อมลูกหมาก ซึ่งจะได้ผลดีกว่าและมีผลที่ไม่พึงประสงค์น้อยกว่ามาก” นายแพทย์วิรุณกล่าว
นายแพทย์วิรุณกล่าวต่อว่า การรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่ที่ไม่ควรทำต่ออวัยวะที่เคลื่อนไหวได้แล้วก็ไม่ควรฝังแร่กับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะบั้นปลาย เช่นว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก การฝังแร่รักษาควรใช้กับรายที่ระดับมะเร็งขั้น 1 หรือ 2 จึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ถ้าฝังแร่ในรายที่มะเร็งลุกลามไปแล้ว นอกจากไม่สามารถรักษาให้หายได้หากชีวิตของผู้ป่วยสั้นกว่าอายุของแร่ เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตแร่ดังกล่าวก็ยังคงกระจายรังสีอยู่ในร่างของผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งถ้ามีการจัดการที่ไม่ถูกต้องก็จะทำให้แร่ดังกล่าวแผ่กัมมันตภาพรังสีเป็นอันตรายแก่บุคคลใกล้ชิดและสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การเผาร่างผู้เสียชีวิตในขณะที่เม็ดแร่ยังแพร่รังสีได้
นายแพทย์วิรุณเปิดเผยว่าการฝังแร่เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ในระยะแรกเริ่ม โอกาสหายมีสูงถึง 95% โดยเฉลี่ย มีข้อดีคือผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดหรือฉายแสง การรักษาด้วยการฝังแร่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น ปัสสาวะรั่วและมีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศน้อยกว่าภายหลังการรักษา ซึ่งการฉายรังสีจะมีผลต่อสมรรถภาพประมาณร้อยละ 50 ในขณะที่การรักษาด้วยการผ่าตัดมีผลต่อสมรรถภาพร้อยละ 50 เป็นอย่างน้อย สองวิธีหลังนี้จึงทำให้คุณภาพชีวิตภายหลังจากการรักษาได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เหตุนี้การฝังแร่รักษาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณา
จากประสบการณ์ที่ได้รักษาคนไข้ชาวอเมริกันมาแล้วกว่า 2,300 ราย ผลของการรักษาและผลข้างเคียงที่ดีกว่าการฉายแสงและการผ่าตัด ทำให้ความนิยมของการรักษาด้วยการฝังแร่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิธีรักษาจะเริ่มด้วยการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจวัดปริมาตรของต่อมลูกหมากเพื่อช่วยแนะปริมาณของเม็ดแร่ที่จะต้องใช้ ตามด้วยการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณหาตำแหน่งที่เหมาะสมของเม็ดแร่ในต่อมลูกหมาก จบโดยการยิงเม็ดแร่ผ่านทางเนื้อเยื่อระหว่างอัณฑะกับทวารหนักเข้าไปโดยตรงที่ต่อมลูกหมาก
ในปัจจุบันมีแร่ที่ใช้ในสหรัฐอยู่ 3 ชนิดคือ ไอโอดายน์ –125, พาเลเดียม-103 และซีเซี่ยม-131 ที่ประเทศไทยขณะนี้ยังผลิตแร่ไม่ได้เองจึงต้องนำเข้ามาจากสหรัฐ และจำเป็นต้องใช้ไอโอดายน์-125 เท่านั้น เนื่องจากเวลาครึ่งชีวิตยาวที่สุดถึง 60 วัน คนไข้แต่ละรายจะใช้แร่ฝังประมาณ 30 กว่าเม็ดไปจนถึง 100 กว่าเม็ดแล้วแต่ปริมาตรของต่อมลูกหมาก รวมทั้งความแรงของเม็ดแร่ที่ผลิตออกมาตามที่แพทย์ต้องการ
ปริมาณการใช้เม็ดแร่มีความสำคัญมากเช่นเดียวกับตำแหน่งของเม็ดแร่ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงที่น้อยที่สุด คนไข้จะฟื้นตัวภายใน 4 – 6 ชั่วโมงและสามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติหลังจาก 24 ชั่วโมงถึงแม้จะมีสารรังสีอยู่ในต่อมลูกหมาก องค์การควบคุมพลังงานปรมาณูแห่งชาติของสหรัฐได้ออกกฎในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่ได้รับการฝังแร่ไอโอดายน์-125 เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากโดยจะอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ใกล้ชิดเด็กเล็กและผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ในระยะ 1 เมตรถ้าจะอยู่ใกล้นานๆ สามารถอุ้มเด็กเล็กได้ชั่วคราวใน 1.5 เดือนแรก รายละเอียดควรคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาทางด้านนี้
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่ไม่สามารถบอกสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายที่เกิดขึ้นตามช่วงอายุแล้วไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และจะเป็นได้จากกรรมพันธุ์หรือจากการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ นายแพทย์วิรุณกล่าว
นายแพทย์วิรุณกล่าวว่า นอกจากนี้มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกเริ่มมักไม่แสดงอาการหรือมีอาการใกล้เคียงกับการมีต่อมลูกหมากโต จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ละเลยคิดว่าเป็นอาการธรรมดาของผู้สูงอายุ เหตุนี้ชายวัยกลางคนหรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรใส่ใจอาการผิดปกติแรกเริ่มของโรค เช่น ความผิดปกติของการปัสสาวะรวมทั้งปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไปจนถึงรู้สึกแสบหรือมีเลือดออกปนมากับปัสสาวะ และเมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการอ่อนเพลียง่าย เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดหลังปวดกระดูก เป็นต้น ควรจะไปพบแพทย์เป็นการด่วนเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้ถูกต้อง เพราะหากตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกเริ่มการรักษาก็จะได้ผลมากกว่าทั้งในด้านอัตราหายขาดและผลข้างเคียงจากการรักษา.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit