นพ.สมยศ อนันตประยูร ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ WHA ผู้พัฒนาและให้เช่าโครงการคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานระดับพรีเมี่ยม ที่มีลักษณะเฉพาะตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) และแบบสำเร็จรูป (General Warehouse) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงถึงความพร้อมและความสนใจเข้าร่วมลงทุนธุรกิจด้าน Data Center ตอบสนองนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล( Digital Hub)ในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทฯได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น บริษัท เอ็นทีที ฟาซิลิตี้ (NTT Facilities) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการวางระบบไอที และ Data Center รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยบริษัทฯจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะดำเนินธุรกิจให้บริหารด้านระบบฐานข้อมูล (Data Center) โดยบริษัท เอ็นทีที ฟาซิลิตี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการด้านการวางระบบฐานข้อมูล รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูล ขณะที่บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ มีพื้นที่คลังสินค้า รวมถึงอาคารสำนักงานให้เช่าอยู่ที่ในทำเลที่มีศักยภาพสูง บนพื้นที่กว่า30 แห่ง ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล จนสามารถทำให้เกิดเครือข่ายใยแมงมุมของคลังสินค้าที่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ Data Center ที่จะเป็นคลังข้อมูลดิจิทัล และเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกอินเตอร์เน็ต คือ ระบบคราวน์(Cloud)
นางจรีพร อนันตประยูร กรรมการและกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ภายในนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยการกำหนดให้หน่วยงานราชการมาเช่า Data Center จากภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย อาทิ สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ การให้ไฟฟ้าราคาต้นทุน
“บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น มีพื้นที่คลังสินค้าในทำเลที่ดี และมีคุณภาพเหมาะแก่การทำ Data Center เป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจของนักลงทุน หรือลูกค้าจากต่างประเทศ ส่วนบริษัท เอ็นทีที ฟาซิลิตี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบไอทีจากประเทศญี่ปุ่นรายใหญ่ มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้าน Data Center ในประเทศญี่ปุ่นสูงถึง 30% การมาร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้บริษัทมีธุรกิจที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลของไทยให้เป็นศูนย์กลางของ AEC ได้อีกด้วย”
อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทร่วมทุนเริ่มดำเนินธุรกิจ ก็น่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าบริษัทร่วมทุนจะมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี ขึ้นอยู่กับการเข้าประมูลงานจากรัฐบาลว่าจะมีมูลค่าเท่าใด และในส่วนของการลงทุนเพิ่มนั้น น่าจะมีแน่นอน แต่บริษัทต้องศึกษาโครงสร้างธุรกิจให้แล้วเสร็จก่อน ทั้งนี้บริษัทคาดหวังว่า การเข้ามาในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ จะทำให้บริษัทเป็นศูนย์กลาง 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย Logistics Hub, Industrial Hub, Utility&Power Hub และ Digital Hub
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit