สกย.เร่งเดินหน้า สร้างพันธมิตรด้านการสื่อสาร มุ่งกระจายข้อมูลโครงการแก้ปัญหายางพารา และความคืบหน้า กยท.สู่ชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ

21 May 2015
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สกย.นำโดย นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในฐานะโฆษก สกย. เข้าพบนายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อหารือแนวทางการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจในโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ และการรวมองค์กรยาง 3 หน่วยงาน จัดตั้งเป็นการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. หวังช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และสู่สาธารณชนในวงกว้าง

นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในฐานะโฆษก สกย. เผยว่า การดำเนินงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน หลายโครงการมีความคืบหน้าไปมาก อาทิ โครงการควบคุมปริมาณการผลิต ซึ่งขณะนี้ มีเกษตรกรชาวสวนยาง ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทน จำนวน 39,990 ราย คิดเป็นเนื้อที่โค่นยาง จำนวน 446,116.33 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ (400,000 ไร่) และคาดว่า ในจำนวนนี้สามารถช่วยลดปริมาณผลผลิตยางในตลาดได้ประมาณ 110,011ตัน โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทาง สกย. ได้มีการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือผู้รับการสงเคราะห์ เป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไปแล้วเกือบ 400 ราย ในการนำไปลงทุนสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้กับตนเองและครอบครัว ภายใต้โครงการนี้ สกย. ได้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการปลูกยางเชิงเดี่ยว และแนวคิดเกษตรภายใต้ระบบเศรษฐกิจแข่งขันเสรี มาเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำร่องหมู่บ้านชาวสวนยาง ซึ่งได้เร่งดำเนินการพัฒนาไปแล้ว 5 หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาชาวสวนยางในชุมชนให้เกิดนวัตกรรมจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ หรือแม้แต่ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อนำไปสู่การสร้างสวนยางที่มีความยั่งยืน ขณะนี้ มีเกษตรกรประมาณ 44,000 ราย ทั่วประเทศ ได้เข้ารับการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีหลักสูตรต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติจริงต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมือของหลายๆ หน่วยงานงาน อาทิ การนำยางพาราไปแปรรูปเป็นถนนยางพาราในพื้นที่จังหวัดต่างๆภาคใต้ การใช้แผ่นยางพาราแปรรูปปูพื้นสนามฟุตซอล เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการต่างมีการร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรช่วยกันผลักดัน บางโครงการอาจใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและรอผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางรับทราบและเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานต่างๆ ที่ภาครัฐพยายามเร่งแก้ไขปัญหา จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากกรมประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน ในการสื่อสารสู่ชาวสวนยางและสาธารณชนควบคู่ด้วย

นายเชาว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องยางพาราของประเทศ ได้มีการรวมองค์กรขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตามกรอบพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ....ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนายางพาราของประเทศมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น จึงยิ่งจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหายางพาราให้ถูกจุดและเป็นระบบต่อไป