พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน“มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” ถึงระบบการศึกษาของไทยว่า การศึกษา จะต้องมีการจัดหมวดหมู่ปัญหาออกมา โดยเฉพาะตนเองให้ความสำคัญกับบุคลากรค่อนข้างสูง จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้เรายัง ขาดครูที่มีความสามารถ มีความรู้รอบด้าน ซึ่งตนได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการบูรณาการนำการศึกษาเรียนรู้ทางเทคโนโลยีร่วมกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูและการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และในส่วนของตัวเด็กนักเรียน ยังมีปัญหาการอ่านออก เขียนได้ คิดคำนวณได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัจจุบันเด็กไทยจะเป็นเด็กที่มีความสามารถ แต่ไม่สามารถคิดต่อได้ เป็นโจทย์ที่เราต้องมาคิดแก้ปัญหา ทำอย่างไรจะสอนให้เด็กคิดเป็น
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ตนได้นำเรื่องการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยสถานศึกษาต้องผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เตรียมความพร้อมของบุคลากรคุณภาพสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนเรื่องของการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบเฉพาะหน้าที่ของตนไปก่อน หากให้ท้องถิ่นรับผิดชอบทั้งหมดในทันทีก็อาจจะมีปัญหาได้ ที่สำคัญประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดการยอมรับกับทุกภาคส่วน
ทางด้านพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า งาน “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ บริเวณภายในกระทรวงศึกษาธิการ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ การเสวนาวิชาการ การแสดง และการสาธิตเกี่ยวกับการดำเนินงานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียน พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในเต้นท์ปรับอากาศ
"ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๙ โซน ได้แก่ โซนที่ ๑ การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียนและการแก้ปัญหาอ่านออกเขียนได้ โซนที่ ๒ การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โซนที่ ๓ การพัฒนาวิชาชีพเพื่อการศึกษา พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา โซนที่ ๔ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล โซนที่ ๕ การขยายโอกาสทางการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส โซนที่ ๖ การศึกษาเพื่ออาชีพ โซนที่ ๗ การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน โซนที่ ๘ การจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ และโซนที่ ๙ การศึกษาเดินหน้าประเทศไทย ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมทั้ง ๙ โซนนั้นจะสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาล"
พลเอกสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ในแต่ละโซนก็จะมีการนำเสนอและการแสดงที่เกี่ยวข้องในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ โซนที่ ๕ การขยายโอกาสทางการศึกษาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะมีกิจกรรมการศึกษาเด็กพิการ กลุ่มเด็กที่ไม่มีหลักฐาน ทะเบียนราษฎร์ ไม่มีสัญชาติ เด็กและประชาชนบนพื้นที่สูง เด็กและเยาวชนในเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประชาชน ผู้ขาดโอกาสในพื้นที่ชนบท ส่วนในโซนที่ ๖ การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ แบ่งพื้นที่ภายในไว้เป็น 4 โซนย่อย ได้แก่ โซน A สอศ. และ สพฐ. มีการนำเสนอ การจัดการเรียนการสอนแบบทวิศึกษา(๒ วุฒิ), แนวทางการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ เน้นสมรรถนะอาชีพ ทางด้านอาชีพร่วมกัน, ในโซน B สพฐ. นำเสนอการถอดประสบการณ์, ผลงานนักเรียน และนวัตกรรม และPersonality test, โซน C กศน. นำเสนอการฝึกอบรมอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นจนเป็นผู้ประกอบการ และโซน D สช.นำเสนอการฝึกอบรมอาชีพช่างทอง ที่ควรสงวนไว้ของประเทศไทย
“นอกเหนือจากในส่วนการจัดนิทรรศการและกิจกรรมทั้ง 9 โซนแล้ว ภายในงานยังมีการสัมมนาวิชาการ “มิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” ด้วย โดยในวันนี้มีการสัมมนาในหัวข้อ รูปแบบการบริหารสถานศึกษานิติบุคคลในกำกับ” ณ ห้องประชุม อาคารราชวัลลภ ชั้น ๒ , หัวข้อ “คุณภาพการศึกษา : ทางออกอนาคตประเทศไทย” ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมัคลาภิเษก ชั้น ๓ , และหัวข้อ “กรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน” ห้องประชุม อาคาร สพฐ. ชั้น ๔
"ส่วนในวันพรุ่งนี้ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.จะมีการสัมมนาในหัวข้อ “สัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ : ความอยู่รอดของประเทศไทย” ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อาคารรัชมัคลาภิเษก ชั้น ๓ , หัวข้อ “กลยุทธ์การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ด้วยกระบวนการอบรมพัฒนาด้วยรูปแบบ EIS&GFE” ห้องประชุม อาคาร สพฐ. ชั้น ๔ และหัวข้อ“เส้นทางสู่ความสำเร็จ ของ ICT ในสถานศึกษา” ห้องประชุม อาคารราชวัลลภ ชั้น ๒ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit