ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรมนั้น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีห้องปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์ให้บริการแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในสถาบันฯ ที่ปฏิบัติงานสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้าน วทน. ในโอกาสนี้ที่มีความร่วมมือจากหน่วยงานของภาครัฐทั้ง 3 ฝ่าย มทส. – นาโนเทค - ซินโครตรอน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมสร้างเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การบริการด้าน วทน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของแสงซินโครตรอน และเข้ามาร่วมสร้างและใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน ซึ่งจะเป็นจุดหนึ่งในการเชื่อมต่อการใช้โครงสร้างพื้นฐานทาง วทน. ให้เกิดผลในการพัฒนาเศรษฐกิจและวิชาการ
ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมบริหารสถานร่วมวิจัย มทส.-นาโนเทค-สซ. เปิดเผยว่า “จากการที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ได้ร่วมทุนจัดตั้งสถานร่วมวิจัยแบบไตรภาคี เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 โดยเป็นการร่วมลงทุนฝ่ายละ 15 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท โดยระยะที่ 1 ใช้เวลา 3 ปี โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เป็นหัวหน้าสถานร่วมวิจัย ได้ดำเนินการสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) กระทั่งแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบันสถานีทดลองแห่งนี้ สามารถให้บริการแสงได้ถึง 8,206 ชั่วโมง แบ่งให้กับผู้ใช้ 218 คน จาก 144 โครงการวิจัย ทำให้เกิดผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแล้วกว่า 20 เรื่อง และมีการยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา 1 เรื่อง แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของผลงานวิจัยที่ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ นอกจากนี้ การดำเนินการสถานร่วมวิจัยฯ ยังสามารถพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการทำวิจัยโดยใช้เทคนิคด้านแสง ซินโครตรอนในการวิจัยขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน จากผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานข้างต้น ทั้งสามหน่วยงานจึงมีความเห็นพ้องกันที่จะขยายระยะเวลาการดำเนินงานไปสู่ระยะที่สอง เพื่อต่อยอดและขยายผลความร่วมมือระหว่างไตรภาคีในการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะระดมเงินทุนเพิ่ม ฝ่ายละ 1 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 15 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการของสถานร่วมวิจัยในระยะที่สอง”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน ศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในทุกวงการ ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีนาโนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการวิจัยในระดับสากลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในแทบทุกด้าน การที่นักวิจัยไทยได้เข้าถึงห้องปฏิบัติการวิจัยวัสดุขั้นสูง เช่นการมีสถานีทดลองเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถวิเคราะห์สถานะทางเคมีและโครงสร้างอะตอมโดยรอบของธาตุที่สนใจได้หลายชนิด ทั้งยังสามารถวิเคราะห์สารตัวอย่างได้ทั้งในสภาวะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยไม่ทำลายสารตัวอย่าง ซึ่งได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยหลากหลายด้าน อาทิเช่น วัสดุศาสตร์ วัสดุนาโน ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม พลังงาน และโบราณคดี เป็นต้น การมีเครื่องมือชั้นแนวหน้านี้จึงเป็นเสมือนตัวขับเร่งให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยออกสู่สังคมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมานักวิจัยไทยมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในระดับนาชาติ การผลิตผลงานวิจัยต่อจากนี้จะให้ความสำคัญมุ่งไปที่การวิจัยและพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น”
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากผลสำเร็จในการสร้างระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลอง มทส.-นาโนเทค-มทส. ภายในห้องปฏิบัติการแสงสยามนั้น สิ่งที่น่าภาคภูมิใจร่วมกันก็คือ ระบบลำเสียงแสงนี้ได้ถูกออกแบบและจัดสร้างโดยทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยทั้งสิ้น ซึ่งในตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินการจัดสร้างได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพของทีมงานบุคลากรได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง สถาบันฯ ยังได้จัดทีมนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าใช้บริการแสง การบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรองรับการใช้งานอยู่เสมอ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สถาบันอุดมศึกษา และ องค์กรวิจัยชั้นนำของประเทศได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วยแสงซินโครตรอนผ่านการพัฒนาสถานร่วมวิจัยนี้ ก่อให้เกิดมิติใหม่ในด้านการร่วมใช้งบประมาณ การร่วมสร้างสรรค์ผลงานวิจัย และในระยะที่ 2 จะมีการพัฒนาระบบ X-ray Photoemission Spectroscopy เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระบบสำหรับการวิเคราะห์พื้นผิวของวัสดุ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มจำนวนนักวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากในกลุ่มประเทศอาเซียน และเพิ่มจำนวนโครงการวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพันธมิตรร่วมของหน่วยงานไตรภาคี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
(จากภาพ ซ้ายไปขวา) รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ, ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน, นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ หัวหน้าสถานร่วมวิจัย มทส-นาโนเทค-ซินโครตรอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit