ธรรมศาสตร์คว้า 5 ดาวการประเมินมาตรฐานสากลของคิวเอส สถาบันระดับโลก ตอกย้ำความสำเร็จนโยบายความเป็นนานาชาติและมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

18 May 2015
คิวเอส สถาบันจัดอันดับและประเมินมาตรฐานด้านการศึกษาระดับโลก มอบคะแนนประเมินคุณภาพ 5 ดาวแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน 5 ด้าน ความเป็นนานาชาติ ความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และการจ้างงานบัณฑิตของมหาวิทยาลัย สะท้อนความสำเร็จนโยบายด้านความเป็นนานาชาติและด้านมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน พร้อมมุ่งสู่การเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำอาเซียน

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการที่คิวเอส (Quacquarelli Symonds : QS) สถาบันจัดอันดับและประเมินมาตรฐานด้านการศึกษาระดับโลก ได้ตรวจประเมินเพื่อทำการรับรองมาตรฐานด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยการให้คะแนนระดับ 1-5 ดาว (QS Stars) นั้น ผลการประเมินพบว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ระดับ 5 ดาวซึ่งเป็นระดับสูงสุดใน 5 ด้าน คือ ความเป็นนานาชาติ(Internationalization) ความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibilities) การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย (Inclusiveness) และการจ้างงานบัณฑิตของมหาวิทยาลัย (Employability) ดังนี้

ความเป็นนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความร่วมมือเชิงวิชาการตลอดจนการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยนานาชาติ มีจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาจากต่างประเทศและไปต่างประเทศสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล และมีนักศึกษาต่างชาติจำนวนกว่า 50 ประเทศ

ความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น มีศูนย์กีฬาที่มีความพร้อมและทันสมัยในระดับเอเชีย มีสถานที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาและพัฒนาตนเองของนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ และหอพักนักศึกษา

ความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในด้านกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และการลงทุนของมหาวิทยาลัย เช่น โครงการบริการสังคมต่าง ๆ อาทิ โครงการให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษกับประชาชนทั่วไป การให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ และความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชน การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การลดมลภาวะ และการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนภายในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เช่น การมอบทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสและนักเรียนในชนบท การวางผังและจัดการด้านสถานที่ภายในมหาวิทยาลัยที่เอื้ออำนวยต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์มีสัดส่วนการมอบทุนการศึกษาและการจัดการที่อำนวยความสะดวกต่อผู้พิการที่สูงกว่าเกณฑ์ที่คิวเอสกำหนดไว้ตามมาตรฐานสากล

การจ้างงานบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการจ้างงานและมีงานทำสูงถึง98% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดให้มีที่ปรึกษาด้านอาชีพคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาด้านอาชีพ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พบและสมัครงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ มากกว่า 300 องค์กรในแต่ละปี

“การประเมินผลดังกล่าวทำให้เรารู้สถานะของตัวเองตามหลักเกณฑ์สากล รู้จุดแข็งจุดอ่อนของมหาวิทยาลัย มีภาพที่ชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องพัฒนา สิ่งที่ต้องทบทวนและสิ่งที่จะต้องปรับปรุง เช่น ด้านวิจัยที่ต้องเพิ่มจำนวนผลงานวิจัยทั้งด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นตามสัดส่วนของอาจารย์ ขณะที่ด้านความเป็นนานาชาติ ด้านความพร้อมของสถานที่ แม้จะได้รับการประเมินดีแล้วแต่เราก็จะพัฒนาให้ดีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” รองศาสตราจารย์ เกศินี กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยสรุปว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความยินดีต่อผลการประเมินครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล และสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงและได้รับการยอมรับจากผู้จ้างงาน ความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายหลักในด้านความเป็นนานาชาติและการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนนั้นเป็นนโยบายที่ถูกต้องเพราะสากลก็ให้ความสำคัญในมิติดังกล่าว ซึ่งสร้างความมั่นใจในการดำเนินนโยบายและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยต่อไป ซึ่งมหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นดำเนินตามเป้าหมายการเป็น Top 5 ของอาเซียน