รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นรอบใหม่นั้นได้สร้างผลกระทบต่อโรงพยาบาล Manmohan Memorial Hospital ของประเทศเนปาลที่ทีม DMATได้เตรียมประสานงานในการเข้าให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอยู่ ซึ่งขณะเกิดเหตุทีมแพทย์ของโรงพยาบาลและทีม DMAT ได้ร่วมกันอพยพ เคลื่อนย้าย และปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยและได้ร่วมช่วยจัดพื้นที่สำหรับการรักษาพยาบาล พร้อมทั้งร่วมกับทางโรงพยาบาล Manmohan Memorial Hospital จัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว ซึ่งมีผู้ป่วยในการดูแลของทีมแพทย์ฉุกเฉินไทยประมาณ 50 คน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสามารถดำเนินการต่อได้และได้สนับสนุนเต็นท์สนาม ผ้าห่ม ให้กับโรงพยาบาลสนามชั่วคราวอีกด้วย
“นอกจากนี้แล้วเรายังได้ถอดบทเรียนของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเพื่อที่จะนำมาปรับใช้ในการทำงานของเราในครั้งต่อไปโดยพบปัญหาอุปสรรคหลักๆ ดังนี้ 1. เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้นเกิดความตื่นตระหนกทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจึบทำให้การช่วยเหลือประชาชนที่เข้ามาทำการรักษาในโรงพยาบาลมีปัญหา 2. ทีมได้สังเกตเห็นว่าระบบการเตือนภัยของประเทศเนปาลนั้นมีปัญหา เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วนั้นไม่มีระบบเตือนภัยให้กับประชาชนและไม่มัสัญญาณแจ้งให้ประชาชนทำการอพยพ 3. ระบบสื่อสารต้องเป็นระบบที่เราจะต้องจัดเตรียมให้พร้อมรับกับทุกสถานการณ์เพราะที่ประเทศเนปาลเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นนั้นระบบการสื่อสารทุกอย่างในประเทศล่มหมดและจะกลับมาใช้ได้หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวประมาณ 2ชั่วโมง นอกจากนี้แล้วเรายังพบว่าเส้นทางอพยพประชาชนนั้นต้องผ่านถนนซึ่งมีรถหนาแน่น จึงทำให้การเคลื่อนย้ายประชาชนและผู้ป่วยมีปัญหา นอกจากนี้แล้วปัญหาที่สำคัญมากที่สุดคือเรื่องของข้อมูลผู้ป่วย เพราะโรงพยาบาลที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินของเราได้เข้าไปให้การช่วยเหลือนั้นไม่มีข้อมูลผู้ป่วยที่จะอพยพ ไม่ทราบจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริง จึงทำให้ทีมที่เข้าสนับสนุนช่วยเหลือไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น” รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว
นพ.ภูมินทร์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้สิ่งที่ประเทศเนปาลกำลังขาดและต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องของระบบการแพทย์ฉุกเฉินคือ ยา และอุปกรณ์ในการอพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่มีไม่เพียงพอ อาทิ รถนั่ง เปลหาม และในเรื่องที่อยู่อาศัยนั้นบ้านเรือนส่วนใหญ่ของประชาชนในประเทศเนปาลนั้นสร้างขึ้นจากอิฐและดินจึงทำให้ง่ายต่อถล่ม ทำให้ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย การจัดหาเต็นท์นอน ผ้าห่ม และเสื้อผ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ประชาชนเนปาลต้องการ
สำหรับทีมช่วยเหลือทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ (Disaster Medical Assistant Team หรือDMAT) ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ประสานงานช่วยทีมแพทย์ฉุกเฉินชุดที่สองของประเทศไทยประกอบด้วย นายแพทย์คณินทร์ กีรติพงค์ไพบูลย์นางสาวสิริมา ใจปล้ำ นางหทัยรัตน์ รังสรรค์สฤษดิ์ นายไชยเชษฐ์ พัดสี นายอนุกูล สอนเอก นายรณยุทธ กุลพันธ์ และนายสมศักดิ์ บุญรัตนกิจ