นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศก.4) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนระบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวจังหวัดขอนแก่น ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย เนื่องจากข้าวเหนียวเป็นสินค้า ที่มีความสำคัญต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนาไทย
สำหรับโครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียวที่รัฐบาลกำหนดให้ดำเนินการในฤดูนาปี 2558/2559 ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาข้าวเหนียวที่มีพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 10,000 ไร่ขึ้นไป จังหวัดขอนแก่น จึงขานรับนโยบายนำร่องโครงการฯ ดังกล่าว โดยภาครัฐและเอกชนบูรณาการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยเลือกพื้นที่ดำเนินการ 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชนบท ซึ่งต่อไปจะดำเนินการสำรวจ คัดกรอง Smart Farmer ด้านข้าวเหนียว ไม่ต่ำกว่าอำเภอละ 40 คน เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพและถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการผลิตข้าวเหนียว” ส่งเสริมการทำนาตามหลักชาวนาธรรมชาติโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักกสิกรรมธรรมชาติ หลักการพึ่งตน (เก็บเมล็ดพันธ์ไว้ใช้เอง) การเชื่อมโยงตลาดมีการประสานงานกับสหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการโรงสีข้าวให้รับรู้ถึงคุณภาพข้าวเหนียวธรรมชาติเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม ขยายตลาดข้าวกล้องเหนียวทั้งในและต่างประเทศ มีการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรที่มีความพร้อม โดย สศก.4จะดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการด้วย ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะได้พัฒนาเป็น Smart Farmer สู่ความพอเพียง มีชีวิตที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดจนสามารถสืบทอดอาชีพชาวนาธรรมชาติให้ลูกหลานต่อไปได้ ขายผลผลิตได้ราคาที่เป็นธรรม ผู้บริโภคได้บริโภคข้าวเหนียวธรรมชาติที่อร่อย มีคุณค่าปลอดภัยไร้สารเคมี ในราคาที่เป็นธรรม ระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟูและมีสภาพแวดล้อมที่ดี
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวประมาณ 16.7 ล้านไร่ และมีผลผลิต 5-8 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวเหนียวอันดับหนึ่งในตลาดโลก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอาเซียนนิยมบริโภคข้าวเหนียวจากไทย เพราะลักษณะเม็ดเรียวยาวและมีคุณสมบัติหอมนุ่มมากกว่าข้าวเหนียวจากแหล่งอื่น ซึ่งข้าวเหนียวปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงร้อยละ 84 เนื่องจากประชากรของภาคนิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักในชีวิต ประจำวัน อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มาตรการด้านภาษีจะถูกขจัดไป จะส่งผลกระทบกับข้าวเหนียวของไทยทั้งในแง่การส่งออกและการไหลเข้าของข้าวเหนียวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวเหนียวในระดับต่างๆ และการรักษาคุณภาพข้าวเหนียวพันธุ์ดีของไทยให้ได้มาตรฐานจึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญรวมทั้งการขยายตลาดใหม่ๆ อีกด้วย นางราตรีกล่าว