กลุ่มอาหารออร์แกนิค (Organic Food) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาหารเกษตรอินทรีย์” ถือเป็น1 ใน 4 กลุ่มของนวัตกรรมอาหาร ที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน นอกเหนือจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ หรือ Functional Foods กลุ่มอาหารทางการแพทย์ หรือ Medical Foods และสุดท้ายกลุ่มอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม หรือ Novel Foods สำหรับกลุ่มอาหารออร์แกนิค (Organic Food) นั้นคือ อาหารที่ผ่านการผลิตทางการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี หรือวัตถุสังเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น กระบวนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ก่อนการปลูกจะต้องเตรียมหน้าดินก่อนด้วยวิธีธรรมชาติ ทุกขั้นตอนการผลิตจะไร้สารปนเปื้อนที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือมนุษย์ จะไม่ผ่านการฉายรังสี ไม่เพิ่มเติมสิ่งปรุงแต่งลงไปในอาหาร ถ้าเป็นอาหารที่มาจากการทำปศุสัตว์ก็จะต้องไม่มีการใช้สารปฏิชีวภาพ ไม่ใช้สารเร่งฮอร์โมน และต้องเลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารที่มีสุขอนามัย กล่าวสรุปคือโดยหลักการสำคัญของการเกษตรแบบออร์แกนิค ต้องปลอดสารพิษในทุกขั้นตอน โดยการปลูกนั้นจะต้องใช้ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ปลอดสารพิษเป็นตัวแปรสำคัญ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี การใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตและการตัดต่อพันธุกรรมต่างๆ ที่สำคัญ เน้นให้ผลิตผลต่างๆ ออกตามฤดูกาลเท่านั้น ทั้งนี้เกษตรกรออร์แกนิคต้องทำงานหนักในทุกขั้นตอนของการเพาะปลูก รวมทั้งอาศัยความรักและการทุ่มเทแรงกายพร้อมระบบการจัดการที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพเยี่ยม ซึ่งในด้านการเพิ่มผลผลิตและการเก็บรักษาผลิตผลภายใต้กรอบจำกัดของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้นจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมสมัยใหม่เพียงแต่เป็นนวัตกรรมที่นำย้อนสู่รากฐานดั้งเดิมที่มีมาช้านานนั่นคือคือการเกษตรโดยวิถีธรรมชาติ
คุณแซม พีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้นมีราคาสูงกว่าอาหารอื่นๆทั่วไป เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินที่ต้องใช้เวลานาน การเลือกปลูกแต่พืชผักตามฤดูกาล การหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน การเก็บเกี่ยวและการจัดส่งที่คำนึกถึงความสดใหม่อยู่เสมอ แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงข้อดีที่จะได้รับกลับคืนมานั้นมีมากมาย อีกทั้งในปัจจุบันหลายหน่วยงานพยายามมุ่งให้ความรู้เกษตกรถึงข้อดีของการเกษตรกรออร์แกนิคในระยะยาวที่จะให้ผลผลิตในปริมาณสูงกว่าการเกษตรกรทั่วไป และมีการนำเข้าสินค้าออร์แกนิคหลายประเภทจากทั่วโลกเพื่อจำหน่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในท้องตลาดมีราคาไม่แพงจนเกินไป เพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่จะสามารถใช้ชีวิตในแบบออร์แกนิคได้อย่างยั่งยืนและมีสุขภาพดีอีกด้วย รวมทั้งแนวโน้มและทิศทางของการทำนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต บ้านเรามีความได้เปรียบอยู่แล้วในเชิงวัตถุดิบ และฝีมือสะสม จึงเชื่อได้ว่าหากเกษตรกรไทยและผู้ประกอบการไทยหันมาทำนวัตกรรมในเรื่องอาหารแบบใหม่ๆ กันให้มากขึ้น โอกาสทางเศรษฐกิจทั้งของเกษตรกรหรือของประเทศจะดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน”
ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากจะเห็นได้จากการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ มากมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการขยายฐานตลาดไปยังตลาดนานาประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมความพร้อมจัดงาน THAIFEX – World of Food Asia 2015 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าครั้งยิ่งใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพของสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับ รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไทยมีความสามารถ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมอาหารในรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งอาหารออร์แกนิค ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนภาครัฐเองได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสโดยการสร้างช่องทางในการเจรจาการค้าและธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางการค้ากับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าปัจจัยหลักเหล่านี้จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารไทยได้เติบโตในภูมิภาคเอเชีย และในตลาดโลกได้อย่างมีต่อเนื่อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit