ผลสำรวจชี้ 5 ความท้าทายในการรักษาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

28 May 2015
เฮย์กรุ๊ป เผยผลสำรวจล่าสุดจากพนักงานกว่า 5 ล้านคนทั่วโลกพบว่า กลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรทั่วโลกประสบอยู่ ซึ่ง 5 ความท้าทายทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องต่อไปอีก 15 ปีข้างหน้านี้ ได้แก่ การประสานการทำงานร่วมกัน, ความคล่องตัว, ความโปร่งใส, นวัตกรรม และ ผลิตภาพ และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ก็คือ บุคลากรในองค์กร นั่นเอง
ผลสำรวจชี้ 5 ความท้าทายในการรักษาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ บุคลากรนับเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งองค์กรต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญ จากการศึกษาพบว่า องค์กรที่ได้คะแนนสูงสุดในด้านการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรและการสนับสนุนการทำงานของพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 4.5 เท่า เมื่อเทียบกับองค์กรที่ได้คะแนนต่ำสุด นอกจากนี้ยังพบว่า องค์กรเหล่านี้มีการพัฒนาด้านการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรเพิ่มขึ้น 54% คุณนงนุช อบสุวรรณ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เฮย์กรุ๊ป กล่าว

องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะตระหนักอยู่เสมอว่า บุคลากรเป็นสินทรัพย์สำคัญ ที่จะช่วยให้องค์กรรับมือกับความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ คุณนงนุช กล่าวเพิ่มเติม

การประสานการทำงานร่วมกัน (Collaboration)

การที่องค์กรจะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถตัดสินใจอย่างเหมาะสมได้นั้น จะต้องมีการประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่างทีม ส่วนงาน องค์กร หรือแม้กระทั่งกับคู่แข่ง เพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่า 80% ขององค์กรทั่วโลกจะบอกว่า องค์กรของตนมีจุดแข็งเรื่องการทำงานเป็นทีม แต่จากผลสำรวจของเฮย์กรุ๊ป ชี้ให้เห็นว่า พนักงานเกือบครึ่ง (44%) รู้สึกว่าทีมของพวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนงานอื่นๆ นอกจากนี้พนักงาน 35% รู้สึกว่าองค์กรไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการร่วมมือ แบ่งปันความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกันเท่าที่ควร ซึ่งในประเทศไทยก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน

ระยะเวลาอันใกล้นี้ องค์กรจะประกอบไปด้วยพนักงานในหลากหลายช่วงวัย ทำให้การทำงานร่วมกันดูจะเป็นเรื่องยากมากขึ้น องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีระบบ ขั้นตอนการดำเนินงาน แนวทางปฏิบัติ และการส่งเสริมทักษะที่เหมาะสม เพื่อให้พนักงานในทุกช่วงวัย ทำงานได้สำเร็จตามความคาดหวัง และรู้สึกผูกพันกับองค์กรมากขึ้น

ความคล่องตัว (Agility)

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราทุกคนจำเป็นต้องคิดและปฏิบัติงานในแนวทางที่ต่างออกไป ซึ่งองค์กรที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ ดังนั้นองค์กรจะต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนและฝึกอบรมพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้

จากข้อมูลระบุว่า ความคล่องตัวในการทำงานเป็นเรื่องที่หลายๆ องค์กรกำลังเผชิญอยู่ โดย 36% ของพนักงานมองว่าการตัดสินใจไม่ได้เกิดจากบุคลากรในตำแหน่งที่เหมาะสม และพนักงาน 46% กังวลเรื่องความรวดเร็วในการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กร ซึ่งการจะส่งเสริมเรื่องความคล่องตัวนั้น ผู้นำจะต้องมองก่อนว่า การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ระดับล่างเป็นโอกาสในการพัฒนาไม่ใช่ภาระที่ต้องแบกรับ และองค์กรต้องสนับสนุนให้ผู้นำเกิดความคุ้นเคยและรู้สึกสบายใจกับการที่กระจายอำนาจการตัดสินใจของตนเองไปสู่พนักงานระดับล่างลงไป นอกจากนั้น การอบรมก็เป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมพร้อมเรื่องทักษะ ความรู้ ความสามารถที่พนักงานจะต้องมีทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งในประเทศไทยเองพบว่าครึ่งหนึ่ง (55%) ของพนักงานยังไม่ได้รับการอบรมในการทำงานอย่างเพียงพอความโปร่งใส (Transparency)

เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดบรรยากาศของความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งความโปร่งใสเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจในยุคสมัยที่การบริหารต้องมีความสุจริตและตรวจสอบได้ การสร้างความไม่พอใจเพียงเล็กน้อยกับลูกค้าสามารถทำลายชื่อเสียงขององค์กรได้เพียงคลิกเมาส์เท่านั้น นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ยังทำให้พนักงานที่เก่งๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลข้างนอกได้ง่ายขึ้น และมองหาโอกาสที่ดีกว่าหากองค์กรไม่ได้สร้างแรงจูงใจที่ดีพอ

จากผลสำรวจระบุว่า องค์กรต่างๆ ทั่วโลก ขาดความชัดเจนเรื่องผลการปฏิบัติงานกับการให้ค่าตอบแทนและการพัฒนาบุคลากร โดย 45% ของพนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับค่าตอบแทนที่มีความชัดเจนและยุติธรรม เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขา และพนักงาน 43% รู้สึกว่าผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น ไม่ได้นำมาซึ่งโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานที่ดีขึ้น ขณะที่ 52% เชื่อว่าตนเองไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และพนักงาน 41% ที่องค์กรไม่ได้ให้ความชัดเจนเรื่องความก้าวหน้าในสายอาชีพกับพวกเขา ในประเทศไทย พบว่าพนักงานถึง 42% รู้สึกว่าองค์กรไม่ค่อยเปิดเผย และจริงใจในการสื่อสารกับพนักงาน ดังนั้นผู้บริหารไทยควรจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น

นวัตกรรม (Innovation)

การสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองต่อความท้าทายทางธุรกิจ ถึงแม้องค์กรมากมายจะส่งเสริมให้พนักงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่จากข้อมูลพบว่า 37% ของพนักงานกลับรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้แนวคิดและวิธีการทำงานแบบใหม่ และพนักงานอีก 47% พบว่าความคิดของพวกเขาที่ได้นำเสนอไปไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้จริง ในประเทศไทย ประมาณ 40% ของพนักงานระบุว่าองค์กรไม่ได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลิตภาพ (Productivity)

ถึงแม้ว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดการพัฒนา องค์กรก็จำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรม และการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานในแต่ละวันให้เกิดผลิตภาพด้วย การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ช่วยให้พนักงานทำงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่องค์กรส่วนใหญ่กลับยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม

จากข้อมูลพบว่า พนักงานเกือบครึ่ง (44%) มองว่าองค์กรของพวกเขาดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึง 45% ที่มองว่าองค์กรของตนยังไม่มีระบบการจัดการและโครงสร้างที่ดีพอ นอกจากนี้พนักงาน 52% มองว่าจำนวนพนักงานในแผนกของตนมีไม่เพียงพอ ในประเทศไทยพบว่า 44% ของพนักงานระบุว่าองค์กรของตนไม่ได้ส่งเสริมการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทํางาน ซึ่งการปรับปรุงด้านผลิตภาพนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การให้พนักงานได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม การให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลในชีวิตการทำงานของพนักงาน และการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้เพื่อส่งเสริมให้การทำงานของพนักงานง่ายขึ้น

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ไปอาจจะดูเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่คุณนงนุช ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ผู้บริหารระดับสูงและผู้นำทางธุรกิจมองว่า เรื่องความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเท่านั้น หากแต่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์เหล่านี้ และทำให้วัฒนธรรมองค์กรฝังแน่นในใจของพนักงานทุกคน

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit