พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆ สำหรับรองรับผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้คนพิการ ผู้สูงอายุ สามารถเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อันนำไปสู่การยอมรับเช่นเดียวกับคนทั่วไป รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเสมอภาคให้ทุกคนในสังคม โดยการบูรณาการร่วมกันตามแนวคิดที่มองคนพิการและผู้สูงอายุ เป็นพลังของสังคม ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่ต้องบูรณาการ ทั้งเรื่องของนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น ไม่ใช่ทำเฉพาะเพื่อคนพิการเท่านั้น แต่เพื่อทุกคนในสังคม และที่สำคัญในวันนี้ สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกจึงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่อ่อนแอทางร่างกายให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยให้ทุกโครงการของรัฐคำนึงถึง “การเข้าถึงบริการของรัฐ” อันเป็นสิทธิพื้นฐานและเครื่องหมายแสดงความเท่าเทียมของสังคม ต้องดูแลให้ครบ อาทิ การบริการระบบขนส่งมวลชน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะต้องจัดให้มีทางลาด ห้องน้ำสาธารณะสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้สามารถใช้บริการได้โดยสะดวกและเชื่อมโยงไปได้ทั่วทุกสถานที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตั้งใจให้กิจกรรมในครั้งนี้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คนพิการ สามารถออกจากบ้าน เดินทาง และเข้าถึงบริการ ตลอดจนการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะสำเร็จได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากทุกภาคส่วนในสังคม หากคนพิการได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนในทุกด้าน รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคแล้ว จะส่งผลให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เพื่อศึกษาและสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ในถนนสายหลัก ๒๐ สาย รองรับรถประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ชานต่ำ ระหว่าง ๑๖ หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit