โดยในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้ามารวม 348 ผลงาน ซึ่งมาจากงานเขียนทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ ประเภทกวีนิพนธ์ นวนิยาย นิยายภาพ (การ์ตูน) รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเยาวชน สารคดี (ทั่วไป) และนักเขียนรุ่นเยาว์ ถือว่ามีการส่งประกวดสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง21 %และ “สารคดี” คือประเภทผลงานที่มีนักเขียนและสำนักพิมพ์ส่งเข้าประชันสูงสุดถึง 93 ผลงาน สูงกว่าปีที่แล้วถึง 41 % นับเป็นจำนวนเล่มที่มากที่สุดจากทุกประเภท แต่ถ้ามองในแง่ของสถิติแล้ว “นวนิยาย” ซึ่งส่งเข้าประกวดเป็นจำนวน 68 ผลงาน มีการเติบโตสูงกว่าปีที่แล้วถึง 66 %เป็นสถิติในแง่ของคุณภาพและปริมาณที่น่าสนใจอย่างมาก
เพราะหากมองว่า “หนังสือ” ถือเป็นกระจกเงาบานใหญ่บานหนึ่ง ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปในสังคมแล้วนั้น การที่ผลงานซึ่งเคยได้ชื่อว่าทั้งคนอ่าน-คนเขียนน้อยแสนน้อยอย่างสารคดีนั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ ถือว่ามีนัยยะทางสังคมที่น่าสนใจไม่น้อย เป็นนัยยะที่ว่าด้วย “ความกระหายความรู้ของสังคมไทย”ในขณะเดียวกันงานเขียนจินตนาการอย่างนวนิยาย ก็มีพัฒนาการในภาพรวมอย่างน่าจับตา
ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ทาง“โครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ด” จึงได้จัดกิจกรรมสัมภาษณ์พิเศษขึ้น โดยมีนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ,ศ.กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิต และประธานคณะกรรมการตัดสินประเภทสารคดี และศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา เมธีวิจัยอาวุโส สกว.และประธานคณะกรรมการตัดสินประเภทนวนิยาย ร่วมสัมภาษณ์
โดยศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เปิดเผยว่านวนิยายที่ส่งเข้าประกวดปีนี้มีความหลากหลายมาก และเมื่อแยกประเภทก็พบว่ามีถึง 13 ประเภท คือ แนวสืบสวนสอบสวน ลึกลับระทึกขวัญ ,แนวข้ามมิติเวลา ซึ่งนักเขียนหน้าใหม่นิยมเขียน ,แนวแฟนตาซี ,แนวการเมือง ซึ่งประเภทนี้หายไปนาน แต่จากผลงานที่ส่งมาพบถึง 2 เรื่อง และยังมีบรรยากาศการเมืองไปแทรกในเรื่องราวอื่นๆ ,แนวไซไฟวิทยาศาสตร์ ,แนวชีวิตครอบครัว ซึ่งปัจจุบันผลงานประเภทนี้ไม่มีมากนัก ,แนวรักโรแมนติก,แนวชีวิต เกี่ยวกับการแสวงหาตัวตน ,แนวอิงประวัติศาสตร์ ,แนวบู๊,แนวท้องถิ่นนิยม ,แนวธุรกิจการเงิน ซึ่งนักเขียนมีบทบาทในแวดวงการเงินมาก และแนวอิงชีวิตจริง ซึ่งนักเขียนเป็นนักข่าวสายการเมือง
“แต่ละเล่มหนามากคำนวณเป็นจำนวนหน้าได้ถึง 21,287 หน้า คาดว่าเป็นเพราะผู้ส่งเข้าประกวดมองว่าเวทีนี้เปิดกว้าง สำหรับงานหลากหลายประเภท ประเด็นที่น่าสนใจคือพัฒนาการของนวนิยายที่สังเกตได้จากผลงานที่ส่งเข้าประกวด ที่นักเขียนไทยรุ่นใหม่ๆที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าจับตามอง ทั้งในรูปแบบกลวิธีการเขียน โดยเฉพาะแนวสืบสวนสอบสวนที่ซับซ้อนมากขึ้นแสดงถึงการค้นคว้าทำการบ้านอย่างดี ไม่ได้ใช้เพียงจินตนาการเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานการเขียนหลายแนวเข้าไว้ด้วยกัน เช่น แนวสืบสวนปนกลิ่นอายสยองขวัญ หรือประวัติศาสตร์ที่ผสานกับการเมือง การข้ามขอบเขตประเภทของการเขียนเป็นมุมมองที่เห็นได้ชัดเจนในแนวสมัยใหม่”
ศ.ดร.รื่นฤทัยยังกล่าวอีกด้วยว่า หากพิจารณาจากผลงานต่างๆเหล่านี้ เชื่อว่าต่อไปเนื้อหาของนวนิยายจะเติบโตขึ้นมากในสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มโหยหาความสุขสงบในอดีต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเผชิญวิกฤติและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อีกกลุ่มจะเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับอดีต แต่มองไปข้างหน้าด้วยวิถีและวิธีคิดสมัยใหม่ ขณะที่แนวสืบสวน สอบสวน ลึกลับ สยองขวัญก็น่าจะเป็นแนวที่มีนักเขียนเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“นักเขียนรุ่นใหม่ที่เคยใช้พื้นที่ออนไลน์ในการเสนอเรื่อง จะมีบทบาทในวงวรรณกรรมมากขึ้น เพราะมีแฟนนักอ่านของตนเองและรุกเข้ามาในพื้นที่ของเวทีประกวดมากขึ้น อย่างตอนนี้ก็เข้ามา 50% แล้ว แต่งานประเภทนี้จะมีพัฒนาการที่ต่างไปจากนักเขียนรุ่นก่อน โดยจะหาทางพัฒนา ฝึกฝนแล้วก็เติบโตขึ้นมาเองได้
อีกประเด็นคือคิดว่าหลังการเลือกตั้งเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว จะมีวรรณกรรมการเมืองมากขึ้น เพราะเก็บกันไว้นานเป็นงานเขียนที่พูดถึงเรื่องการเมืองการปกครองโดยตรง”
ด้านศ.กีรติ บุญเจือ ก็เผยว่าปีนี้มีการส่งผลงานประเภทสารคดีเข้าประกวดมากเป็นประวัติการณ์เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าทุกคนกำลังโหยหาความรู้ซึ่งน่าชื่นใจมากเพราะทำให้ตนนึกย้อนไปถึงสมัยหลายสิบปีก่อนที่ตนเขียนหนังสือปรัชญาและนักอ่านให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม ทำให้ตนนึกถึงบรรยากาศของความรู้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามไม่ได้แปลว่าความรู้เพียงอย่างเดียว จะสามารถดึงดูดผู้อ่านในยุคปัจจุบันได้ การเขียนหนังสือสารคดีในปัจจุบันนี้ จำเป็นจะต้องอาศัยกลวิธีอื่นๆมาเพื่อสร้างความรู้สึกอยากอ่านให้เกิดขึ้นมากกว่าอดีต โดยเฉพาะการใช้ภาพประกอบ
“ถ้าเขียนเป็นตัวหนังสืออย่างเดียว คนจะไม่ชอบ คนชอบอ่านที่มีภาพประกอบ และไม่ชอบรูปถ่าย ต้องวาดรูปให้เป็นภาพการ์ตูน และบางครั้งหลายเล่มที่ส่งมาเราก็อึดอัดใจว่า เอ๊ะทำไมภาพการ์ตูนเยอะ นี่คือสารคดีหรือการ์ตูน นี่เรากำลังคิดกันว่าหรือจะเปิดประกวดอีกประเภทไหมเป็นสารคดีภาพ คือเนื้อเรื่องเป็นสารคดี แต่เขียนเป็นการ์ตูนมาเลย
อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นกลวิธีการนำเสนองานความรู้ที่น่าสนใจและเข้าถึงคนอ่านได้ง่าย ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้คนได้รับความรู้มากขึ้น เพราะความสำเร็จดังกล่าวสร้างทั้งนักเขียนและนักอ่านให้เพิ่มขึ้น
ผมคิดว่าต่อไปสารคดีภาพหรือสารคดีการ์ตูน ที่นอกจากจะใช้ภาพวาดแล้วยังใช้ภาษาแบบภาษาพูดในการอธิบายเรื่องยากให้เช้าใจง่าย น่าจะเป็นหนังสืออีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมต่อไป”สามารถสะท้อนให้เห็นถึงนัยยะของสังคมไทยได้หลายประการจริงๆ
ในมุมของผู้สร้างสรรค์โครงการ นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ผลงานทุกประเภทน่าสนใจมากทั้งในตัวเล่มและภาพรวมที่สะท้อนถึงสังคมไทย ซึ่งทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยังยืนหยัดที่จะสนับสนุนการอ่านการเขียนของสังคมไทยผ่านโครงการต่างๆอย่างสม่ำเสมอ
“การอ่านและการสร้างนิสัยรักการอ่านยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทย สังคมเราต้องการคนอ่านหนังสือเพื่อให้มีความรู้ ทันโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซี เอส อาร์หลักของบริษัท ซีพี ออลล์ ในด้านการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ซึ่งโครงการหนึ่งของบริษัท คือโครงการ “หนังสือเล่มแรก” ที่ส่งเสริมเยาวชนรู้จักหนังสือตั้งแต่ยังอ่านไม่เป็น โดยสนับสนุนพ่อแม่เป็นผู้อ่านให้ฟัง เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นคนรักการอ่าน และประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะจะเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ และคนที่อ่านหนังสือจะมีสมองซีกขวา สมดุลกับซีกซ้าย คือเป็นคนที่ไม่สุดโต่งจนเกินไป เป็นทั้งคนเก่งและคนดีในคนเดียวกัน และสิ่งนี้คิดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาประชากรของประเทศไทย และนอกจากนี้ยังมี อีกหลากหลายโครงการ รวมถึง โครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12บริษัทจะสนับสนุนโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดต่อไป และอยากจะเห็นนักเขียนรุ่นใหม่ส่งผลงานเข้าประกวดมากขึ้นครับ”เข้มข้นขนาดนี้ อยากรู้จริงๆว่าหนังสือเล่มไหนบ้างที่จะชนะใจกรรมการคว้าชัยในเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ดไปครอง
กรกฎาคมนี้น่าจะได้รู้กันแน่นอน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit