ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า โรคหัดและหัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุเกิดจากระดับภูมิต้านทานในร่างกาย ไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับโรคนี้ โดยกำหนดเป็นโรคที่จะต้องกำจัดให้เหลือผู้ป่วยน้อยที่สุด สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้มีผู้ป่วยเหลือไม่เกิน 1 คนต่อประชากรล้านคนภายในปี 2563 จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองโปรดนำบุตรหลานที่เกิดระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึง 31 มกราคม 2555 ไปฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2558 ณ สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ
สาเหตุโรคหัดและหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสหัด มักพบในเด็กช่วงอายุ 1-6 ปี นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่งเพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ติดต่อได้ง่าย โดยการไอ จามหรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ โรคหัดและหัดเยอรมันจะมีอาการคล้ายหวัดธรรมดา คือ มีไข้นำมาก่อน น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ต่อมาจะมีอาการต่างๆ จะเพิ่มขึ้น มีไข้สูง ตาแดงก่ำและแฉะ ไอและมีน้ำมูกมาก เด็กอาจมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้าบริเวณชิดขอบผมแล้วแผ่กระจายไปทั่วตัว ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็เริ่มลดลงผื่นคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญได้แก่ สมองอักเสบ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เยื่อตาบุอักเสบ หูอักเสบ ถ่ายเหลว
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังคงพบการระบาดของโรคเป็นระยะ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี การป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน ทำได้โดยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันดังนี้ ช่วงอายุ 9-12 เดือน ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันเข็มที่ 1,ช่วงอายุ 2 ปี 6 เดือน ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมันเข็มที่2 เพื่อให้เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเข็มที่ 2 ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนโดยเร็ว และช่วยป้องกันโรคหัด ไม่ให้ระบาดในชุมชน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัดละหัดเยอรมัน สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit