จับตา “ไวรัสเมอร์ส” แพทย์เตือนคนไทยเฝ้าระวัง

05 Jun 2015
เป็นข่าวที่กำลังได้รับความสนใจในขณะนี้ กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “เมอร์ส” (MERS) ที่กำลังระบาดหนักและคร่าชีวิตผู้คนชาวเกาหลีใต้ไปไม่น้อยแล้ว “เชื้อไวรัสเมอร์ส” หรือ Middle East Respiratory Syndrome (MERS) ซึ่งเป็นโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์กลุ่มโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเชื้อไวรัสโคราน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 ไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดเชื้อ อยู่บริเวณส่วนต้นของทางเดินหายใจในคน เป็นสาเหตุอาการโรคหวัดทั่วๆ ไป แต่มีบางสายพันธุ์ที่ติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ต่อมาไวรัสสายพันธุ์นี้ได้มีการพัฒนาจนสามารถแพร่เข้ามาติดเชื้อในคนได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ไอ หายใจไม่สะดวก ในที่สุดอาจเสียชีวิต อาการของโรคมีความรุนแรงแตกต่างกันตั้งแต่รุนแรงมากจนถึงรุนแรงน้อย และมีประมาณร้อยละ 20 ที่ไม่แสดงอาการเลย ปัจจุบันยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าไวรัสจากสัตว์เข้าสู่คนด้วยวิธีใด และการติดต่อระหว่างคนเกิดขึ้นจากการปฎิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เช่น การติดเชื้อจากละอองเสมหะเมื่อมีอาการไอหรือจาม การสัมผัส เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นในบุคคลที่มีร่างกายอ่อนแอ เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส จะมีอาการไอ มีไข้ และหายใจลำบาก ดูเผินๆ เหมือนเป็นโรคไข้หวัดปกติ แต่เมื่อเป็นหนักเข้าก็อาจจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารด้วย อาทิ ท้องเสีย มวนท้อง และคลื่นไส้อาเจียน และหากเชื้อไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่ปอด อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 4 วัน
จับตา “ไวรัสเมอร์ส” แพทย์เตือนคนไทยเฝ้าระวัง

พญ.กรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ทั่วไป รพ.ปิยะเวท แนะนำว่า “สำหรับเชื้อไวรัสเมอร์ส ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยต้องหันมาตระหนักให้มากขึ้น เพราะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันหรือยาที่รักษาโรคนี้ได้โดยตรง ทำได้เพียงการรักษาไปตามอาการเพื่อประคับประคองเท่านั้น ในส่วนของการติดต่อจากคนสู่คน จะติดต่อผ่านทางการสัมผัสหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ อาทิ น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ เลือด สารคัดหลั่งต่าง ๆ และจะเพิ่มจำนวน แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเมื่อไวรัสเข้าไปรวมกับเซลล์ของร่างกายที่อุณหภูมิพอเหมาะ ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อตายลง ระบบการทำงานของร่างกายล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทางเดินหายใจ ปอด และไต ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วเมื่อไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่ปอด หากลุกลามไปถึงขั้นนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้”

สำหรับประเทศไทยยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสนี้ แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งไวรัสชนิดนี้ทนทานต่อความร้อน และเจริญเติบโตได้ดีในที่ๆ มีอุณหภูมิสูง และล่าสุดพบผู้ติดเชื้อนี้ในประเทศแถบเอเซียซึ่งไม่ไกลจากประเทศไทยนัก แต่อย่างไรก็ดีแพทย์ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มสำหรับการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเมอร์ส ว่าถึงแม้จะยังไม่พบเชื้อไวรัสนี้ในไทยแต่ก็ไม่ควรละเลยสุขภาพ ควรหมั่นดูแลสุขอนามัยให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดหากมีความจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และถ้าพบว่าตนเองมีอาการไข้สูง ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย อาเจียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่กำลังมีการระบาดของเชื้อไวรัส ในช่วง14 วัน ก่อนเริ่มป่วย ควรรีบมาพบแพทย์ โดยด่วนเพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที และหากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงนี้จะดีที่สุด

จับตา “ไวรัสเมอร์ส” แพทย์เตือนคนไทยเฝ้าระวัง จับตา “ไวรัสเมอร์ส” แพทย์เตือนคนไทยเฝ้าระวัง