ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนและยิ่งทวีความสำคัญขึ้นทุกวัน เพราะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นปัจจัยในการสร้างรายได้จากการนำความรู้มาผลิตสินค้าและบริการ เราจึงกำลังเดินเข้าสู่ “สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้” ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคนสังคม จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเตรียมกำลังคนเข้าสู่สังคมดังกล่าว กิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์” ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินการมากว่า 10 ปี โดยตระเวนจัดแสดงไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จึงเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนได้เป็นอย่างดี และการนำคาราวานวิทยาศาสตร์มาจัดแสดงใน สปป.ลาว ครั้งนี้ เป็น ครั้งแรกที่เป็นการขยายฐานการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์สู่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชนของอาเซียนได้ อีกทั้งยังเป็น “ทูตวิทยาศาสตร์” ในการสานสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งกันและกัน โดยผู้ที่ได้มาเข้าชม จะได้โอกาสเปิดมุมมองใหม่ ๆ ว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก จากการนำเสนอที่น่าสนใจผ่านนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ควบคู่กับการเล่นอย่างสนุกสนาน
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สำหรับนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวง นำโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นแม่งานหลักในการจัด “คาราวานวิทยาศาสตร์ไทย – สปป.ลาว” ได้นำนิทรรศการ Basic Science and Taxidermy มาจัดแสดง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กลศาสตร์ มวล พลังงาน การเคลื่อนที่ ไฟฟ้า แม่เหล็ก การรับรู้เรื่องแสง เสียง เกมกลต่าง ๆ และสัตว์สตัฟฟ์ในแบบ Taxidermy ที่เป็นการเลียนแบบอิริยาบถตามธรรมชาติดุจมีชีวิตจริง โดมดูดาวเคลื่อนที่ ห้องทดลองเรื่องเคมีในบ้าน และการแสดงทางวิทยาศาสตร์เรื่องอากาศโชว์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) นำนิทรรศการความรู้ทางดาราศาสตร์ มาร่วมแสดงผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้เรื่องระบบสุริยะ และหลุมดำ พร้อมไขข้อสงสัยเรียนดาราศาสตร์ไปทำไม พิเศษสุดกับการโชว์ชิ้นส่วน “อุกกาบาต” ของจริงจากนอกโลก (Campo del Cielo) หนักกว่า 70 กิโลกรัม ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นเหล็กและนิเกิล ตกมาสู่พื้นโลกเมื่อประมาณ 4,000-5,000 ปีที่แล้ว โดยนำมาจากประเทศอาร์เจนตินา พร้อมเปิดหมดเปลือกมีอะไรในกล้องโทรทรรศน์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จัดเตรียมชุดนิทรรศการความรู้เรื่องนิวเคลียร์และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พร้อมทั้งฐานกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้เรื่องรังสีในสิ่งแวดล้อม ความรู้ค่าครึ่งชีวิตและการคำนวณหาค่าครึ่งชีวิต การใช้เครื่องสำรวจรังสีเพื่อใช้วัดปริมาณรังสี และการจำลองการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำกิจกรรม มหัศจรรย์พลาสติก เป็นกิจกรรมที่สอนให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของพลาสติกที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน การสังเกต และการแยกประเภทของพลาสติก นอกจากจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังได้สนุกกับกิจกรรมการทดลองประดิษฐ์พวงกุญแจจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้และสนุกกับวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวอีกด้วย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำกิจกรรมเรื่อง การตรวจสอบคุณภาพน้ำและสีผสมอาหาร สถาบันวิจัยแสงซินโคร- ตรอน (สซ.) นำกิจกรรมการสาธิตและทดลองเกี่ยวกับการผลิตแสงซินโครตรอน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำกิจกรรม การปลูกผักปลอดสารพิษ Hydroponic สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) นำอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) มาโชว์ภายในงาน พร้อมนำเสนอระบบการติดตามการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ สปป.ลาว จากข้อมูลดาวเทียม
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วมจัดกิจกรรม อีก 2 แห่งคือ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) นำนิทรรศการ Check in คนทันควัน ที่ให้ความรู้เรื่องภัยใกล้ตัวจากบุหรี่ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่นำเสนอกิจกรรมการประดิษฐ์และทดลองแบบ Hands on
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า อพวช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์แล้ว อพวช. ยังได้ขยายฐานความรู้สู่ทุกภูมิภาคด้วยการจัดกิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช.” ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมียอดผู้เข้าชมกว่า 1 ล้านคน สำหรับ “คาราวานวิทยาศาสตร์ไทย – สปป.ลาว” ถือเป็นโอกาสอันดีที่ อพวช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ขยายฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียนเป็นครั้งแรก และหวังว่าในอนาคต อพวช. จะมีโอกาสนำนิทรรศการไปจัดแสดงยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกันต่อไป
และนอกจากการจัดกิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์ไทย – สปป.ลาว” ในครั้งนี้แล้ว อพวช. ยังถือโอกาสจัดประชุมทวิภาคี เรื่อง ความร่วมมือด้านการพัฒนาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์” ระหว่าง อพวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป.ลาว เพื่อร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งในด้านดังกล่าวต่อไปในอนาคต นายสาคร กล่าวในที่สุด