“อำนวย” มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การยางแห่งประเทศไทย บูรณาการรวมหน่วยงานยางพารา ขับเคลื่อนและดำเนินงานพัฒนายางพาราของประเทศไทยให้เป็นเอกภาพอย่างเป็นระบบครบวงจร

03 Jun 2015
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. และการจัดการยางพาราทั้งระบบของผลผลิตปี 2558/2559 ให้แก่ผู้บริหารของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. ณ ห้องประชุมกันตัง สกย. ว่า ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...ได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการนำร่างดังกล่าว ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้การบริหารงานยางพาราของประเทศเป็นไปอย่างครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป อุตสาหกรรม งานวิจัยและวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติในการพัฒนายางพาราให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า นับว่าเป็นพระราชบัญญัติการยางฯ ฉบับแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากการบูรณาการรวมหน่วยงานยางพาราที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานใหม่ ภายใต้ชื่อ “การยางแห่งประเทศไทย” หรือ กยท. ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานพัฒนาระบบยางพาราของประเทศให้เป็นเอกภาพ และมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะประเทศที่ครองตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตยางพารามากที่สุดในโลก และที่สำคัญ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเป็นผู้นำตลาดยางพาราโลกจากบทบาทและภารกิจที่ครอบคลุมในการจัดการด้านการตลาด

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหวังช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนสามารถยกระดับระบบตลาดให้มีเสถียรภาพ ดังนั้น กยท. จะทำหน้าที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 16 มาตรการ ให้เป็นแนวทางเดียวกันต่อไป สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งเตรียมความพร้อม คือ การบริหารจัดการองค์กร ทั้งระบบ การเงิน บัญชี และงบประมาณของปี 2558 และ 2559 ซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับการเป็น กยท. โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2558 ที่อาจจะต้องนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการ กยท. ประมาณ 2 เดือน รวมทั้งการจัดทำระบบทะเบียนเกษตรชาวสวนยางด้วย สำหรับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจะมีบทบาทและภารกิจเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มุ่งเรื่องการส่งเสริมปลูกแทน มาเป็นการสนับสนุนกิจการของสถาบันเกษตรกรให้เติบโตขึ้น และประเด็นที่มีความห่วงใยกันมาก คือ การใช้เงินสงเคราะห์ หรือเงินเซส (Cess) โดย กยท. จะต้องกำหนดแผนบริหารเงินกองทุน นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ เพื่อควบคุมการขยายตัวของ กยท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป